ตลาดหุ้นทั่วโลกยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน
SCB CIO Office วิเคราะห์เจาะลึกประเด็นการลงทุน หัวข้อ ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ ยังคงปรับร่วงลงอย่างต่อเนื่อง หลังสงครามการค้ายังไม่คลี่คลาย
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และ จีน มีแนวโน้มยืดเยื้อ และถูกเชื่อมโยงกับประเด็นสงครามด้านเทคโนโลยี ส่งผลให้ตตลาดหุ้นทั้งโลกปรับลดลง ยกเว้นตลาดหุ้นอินเดีย ขณะที่ นักลงทุนกังวลผลกระตบต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้ราคาน้ำมันปรับลดลงและราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้น
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นจีน ปรับลดลง เนื่องจาก นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่รุนแรงขึ้น หลังมีรายงานว่า ประธานาธิบดี ทรัมป์ กำลังพิจารณาที่จะขึ้นบัญชีดำบริษัทจำหน่ายกล้องวงจรปิดรายใหญ่ของจีน 5 ราย ในข้อหากระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อสั่งห้ามซัพพลายเออร์ของสหรัฐฯ ทำธุรกิจด้วย แม้รัฐบาลสหรัฐฯ จะเพิ่งยกเลิกคำสั่งห้ามบริษัทของสหรัฐฯ ดำเนินธุรกิจกับบริษัท หัวเว่ยชั่วคราว ถึงวันที่ 19 ส.ค.นี้ ก็ตาม
ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนมีแนวโน้มยืดเยื้อ โดย 1 มิ.ย.นี้ จีนจะเริ่มเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ วงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ขณะที่ ประธานาธิบดี ทรัมป์ ระบุว่า จะนำเรื่องข้อพิพาทกรณี บริษัท หัวเว่ย ที่เขามองว่าเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ มาผูกเข้ากับข้อตกลงที่จะแก้ปัญหาข้อพิพาททางการค้าสหรัฐฯ-จีน ถึงแม้ว่า เขาจะกล่าวว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน จะจบลงอย่างรวดเร็ว โดยจะพบกับ ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง นอกรอบการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่ประเทศญี่ปุ่น 28-29 มิ.ย.นี้ ก็ตาม
ติดตามประเด็นการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ของสหราชอาณาจักร (Brexit) ที่อาจสร้างความกังวลให้กับ นักลงทุนมากขึ้น เนื่องจาก มีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นที่จะเกิด Brexit แบบไร้ข้อตกลง (No deal) หลังนางเทเรซา เมย์ ลาออกจากหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม (มีผล 7 มิ.ย.) ทำให้คาดว่า นายบอริส จอห์นสัน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ จะเป็นตัวเต็งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมคนต่อไป ซึ่งเขามีจุดยืนสนับสนุน No deal Brexit และสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรออกจาก EU ภายใน 31 ต.ค.นี้ ขณะที่ EU ได้เน้นย้ำว่า จะไม่มีการเจรจาซ้ำอีก
การเลือกตั้งสภายุโรปได้สิ้นสุดลงเมื่อ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่า พรรคการเมืองที่เน้นประชานิยม และไม่สนับสนุนการรวมตัวของ EU จะได้รับที่นั่งในสภามากขึ้น
ประเด็นการเมืองในประเทศมีความชัดเจนขึ้น หลังการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ได้ลงมติให้ นายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาฯ ด้านนักลงทุน รอดูการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจะสะท้อนถึงความมีเสถียรภาพทางการเมือง
ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน ได้รับปัจจัยกดดันจากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยสงครามการค้า (Trade War) ถูกเชื่อมโยงกับสงครามด้านเทคโนโลยี (Tech War) ทำให้ นักลงทุนกังวลว่า ข้อพิพาทระหว่าง 2 ประเทศมีแนวโน้มจะยืดเยื้อ และอาจกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดย นักลงทุนรอดูการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งของสหรัฐฯ และ จีนในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินผลกระทบจากสงครามการค้าต่อไป นอกจากนี้ ยังมีความกังวลต่อประเด็น Brexit ที่มีโอกาสมากขึ้นที่จะ “ไม่มีข้อตกลง” ขณะที่ ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากความชัดเจนทางการเมืองที่มากขึ้น
ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้
ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ GDP ในไตรมาส 1/2562 ของสหรัฐฯ และฝรั่งเศส / ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ และยุโรป / อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ / ดัชนี PMI ภาคการผลิตจีน / การผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดขายปลีกของญี่ปุ่นเหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ ความคืบหน้าประเด็นการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน / ผลการเลือกตั้งสภายุโรป / ความคืบหน้าประเด็น Brexit / ประเด็นการเมืองในประเทศ ได้แก่ การเลือกนายกรัฐมนตรี และการจัดตั้งรัฐบาล.