สสว.รุก อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ตามยุทธศาสตร์ชาติ
สสว.จัดงานสัมมนา Localize Character x Supply Chain Integrated Cooperation ความร่วมมืออย่างยั่งยืนเพื่อ SMEs เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และความสำคัญของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานภายในงานจัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สสว. และ 6 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สมาคมการค้าลิขสิทธิ์และของที่ระลึกจากคาแรคเตอร์ดีไซน์ ของเล่น และผลงานศิลป์ร่วมสมัยไทย (TCAP) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Line ประเทศไทย Japan Local Character Association (Yuruchara) Kigurumi.biz และ Venation ที่จะร่วมกันการวางแนวทางการทำงานเพื่อพัฒนา และส่งเสริมผู้ประกอบการในสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และการบรรยายการสร้างคาแรกเตอร์ท้องถิ่น (Local Character) โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย
นายสุวรรณชัย เปิดเผยว่า “ประเทศไทยมีความพร้อมในการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อให้มีศักยภาพรองรับต่อการแข่งขันในตลาดของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทั้งสถาบันการศึกษาที่มีความแข็งแกร่งทางด้านวิชาการ นักสร้างสรรค์ในสาขาต่างๆ ที่ครอบคลุม ทั้งการออกแบบ งานศิลป์ การพัฒนาคอนเทนท์ ผู้ผลิตตั้งแต่ระดับครัวเรือน ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ รวมทั้งด้านการตลาด และสถานที่จัดจำหน่ายสินค้า ล้วนเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย เข้าสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อีกทั้งยังเป็นการ สร้างเครือข่าย หรือความร่วมมือระหว่างคลัสเตอร์ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจที่เชื่อมโยงกัน เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ และเตรียมความพร้อมทางการแข่งขันทางการตลาดอย่างเต็มภาคภูมิ”
ทั้งนี้ จากการสำรวจและประเมินทั่วโลกโดย The Licensing International Global Licensing Survey ในปี 2018 พบว่ามูลค่าตลาดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สูงถึง 280,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเกือบ 8.5 ล้านล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย เพิ่มขึ้นปีละ 3 – 4 เปอร์เซนต์ต่อเนื่องทุกปี โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคโอเชียเนีย มีอัตราการเติบโตถึง 5.1 เปอร์เซนต์ โดยมีสัดส่วน 3.5 เปอร์เซนต์ของตลาดรวมโลก โดยประเทศไทยมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน เป็นลำดับที่ 39 ของโลก มีมูลค่าตลาดประมาณ 595 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 17,850 ล้านบาท
สำหรับผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ นอกจากกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทอลคอนเทนท์ ตัวอย่างความสำเร็จของผลงานสร้างสรรค์คาแรกเตอร์ไทย ซึ่งสามารถสร้างเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ ได้แก่ น้องมะม่วงหรือ Mamuang Jung ของนักวาดการ์ตูน วิศุทธิ์ พรนิมิตร ผลงานสร้างสรรค์ในรูปแบบของเล่น Platform Toy CE และแบรนด์สตรีทแวร์ Carnival ที่สามารถทำรายได้รวมจากการจำหน่ายสินค้าทั้งในและต่างประเทศเฉลี่ยรายละกว่า 30 ล้านบาทต่อปี