สทนช.ลุยแก้ภัยแล้ง
ชาวบ้านหนุน สทนช. แก้แล้งอีสานกาญจน์ ชงทบทวนแนวทางสร้างอุโมงค์ผันน้ำเขื่อนศรีนครินทร์-อ่างเก็บน้ำลำอีซู
สทนช. เร่งขับเคลื่อนศึกษาแนวทางแก้ภัยแล้งพื้นที่ซ้ำซากเมืองกาญจน์ เผยเสวนาแก้แล้งอีสานกาญจนบุรีเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้นำชาวบ้านหนุนการศึกษาแนวทางการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์-อ่างเก็บน้ำลำอีซู
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ในเวทีเสวนา “แก้วิกฤติแล้งอีสานแห่งกาญจนบุรี” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2562 ว่า จังหวัดกาญจนบุรีมีพื้นที่เกิดภัยแล้งซ้ำซาก จำนวน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจา อำเภอเลาขวัญ อำเภอหนองปรือ และอำเภอพนมทวน ซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดจากปริมาณฝนที่ตกน้อยมาก เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงเร็ว ในพื้นที่ขาดแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรขนาดใหญ่ อีกทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นลำน้ำสาขามีขนาดเล็กไม่สามารถพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ได้ และไม่มีระบบชลประทานเนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่เหมาะสม ประชาชนในพื้นที่มีความต้องการแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก รวมทั้งต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนโครงการเพื่อนำน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์มาช่วยทั้ง 5 อำเภอ เร่งขับเคลื่อนโครงการลำตะเพินบนและระบบผันน้ำ และโครงการสถานีสูบน้ำจากคลองท่าล้อ-อู่ทอง ดำเนินการโดยกรมชลประทาน ซึ่งมีโครงการทั้งหมด 30 แห่ง ปัจจุบันดำเนินการไปเพียง 5 แห่ง
ในส่วนของการผันน้ำเขื่อนศรีนรินทร์ ซึ่งมีปริมาณน้ำเป็นจำนวนมากในฤดูฝนมาใช้ประโยชน์นั้น ปัจจุบันสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติอยู่ในระหว่างดำเนินการโครงการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ คาดจะแล้วเสร็จประมาณเดือนมกราคม 2563 โดยได้วิเคราะห์แนวทางเลือกไว้ทั้งหมด 6 ทางเลือก ดังนี้ ทางเลือกที่ 1 ก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระไปยังอ่างเก็บน้ำลำอีซูด้วยแรงโน้มถ่วง พร้อมระบบกระจายน้ำไปยังพื้นที่รับประโยชน์ ทางเลือกที่ 2 ก่อสร้างสถานีสูบน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ พร้อมวางระบบท่อส่งน้ำผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยเทียน และอ่างเก็บน้ำหนองนาทะเล ทางเลือกที่ 3 ก่อสร้างระบบส่งน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ด้วยแรงโน้มถ่วง และทำคลองส่งน้ำจากตำบลวังด้ง อำเภอเมืองกาญจนบุรี ไปยังพื้นที่รับประโยชน์ ทางเลือกที่ 4 ก่อสร้างสถานีสูบน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนท่าทุ่งนา พร้อมวางระบบส่งน้ำไปยังพื้นที่รับประโยชน์ด้วยท่อส่งน้ำและคลองส่งน้ำ ทางเลือกที่ 5 ก่อสร้างสถานีสูบน้ำจากแม่น้ำแควใหญ่บริเวณตำบลวังด้ง อำเภอเมืองกาญจนบุรี พร้อมวางระบบคลองส่งน้ำจากตำบลวังด้งไปยังพื้นที่รับประโยชน์ และทางเลือกที่ 6 ก่อสร้างสถานีสูบน้ำจากแม่น้ำแควใหญ่บริเวณตำบลวังด้ง อำเภอเมืองกาญจนบุรี พร้อมวางท่อส่งน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยเทียน และอ่างเก็บน้ำหนองนาทะเล
“จากการเสวนาที่ผ่านมา ผู้นำชุมชนในพื้นที่เสนอให้ทบทวนแนวทางเลือกการผันน้ำ เนื่องจากเห็นว่า แนวทางทางเลือกการผันน้ำแนวทางที่ 1 คือการทำอุโมงค์ผันน้ำระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร จากเขื่อนศรีนครินทร์ไปยังอ่างเก็บน้ำลำอีซูด้วยแรงโน้มถ่วง เป็นทางเลือกที่ควรดำเนินการเนื่องจากเป็นระยะทางผันน้ำที่สั้น สามารถก่อสร้างเสร็จใช้งานได้เร็วกว่า และผันไปลงอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่อยู่ในพื้นที่สูงเหมาะแก่การกระจายน้ำ แต่ สทนช. ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าศึกษาวิจัยในพื้นที่ ซึ่งในเรื่องนี้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยผู้ตรวจราชการจะเชิญผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุมและลงพื้นที่หาข้อสรุปต่อไป สำหรับการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าและระบบส่งน้ำ ท่าล้อ-อู่ทอง ที่ปัจจุบันไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้า เนื่องจากติดปัญหาเรื่องที่ดิน สทนช.มอบหมายให้กรมชลประทานร่วมกับ อบต.ในพื้นที่จัดทำแผนงานบรรจุลงในแผนปฏิบัติการระดับลุ่มน้ำและเสนอในที่ประชุมจัดทำแผนปฏิบัติการลุ่มน้ำแม่กลองที่ สทนช.จะจัดขึ้นในช่วง 22-23 ส.ค. 2562 พิจารณา โครงการใดมีความพร้อมให้เร่งเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล” เลขาธิการ สทนช. กล่าว