ก.แรงงาน เทรนช่างเมืองรถม้า สู่งานอุตสาหกรรมเขต EEC
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 10 ลำปาง เทรนช่างเชื่อมและสีรถยนต์ สู่งานอุตสาหกรรมเขต EEC บริษัทจองตัว ฝึกจบรับเข้าทำงานทันที
นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การพัฒนาทักษะให้กับกำลังแรงงาน ที่กพร.ดำนินการนั้น มีทั้งหลักสูตรระยะสั้น 18-30 ชั่วโมง และระยะยาว 2-6 เดือน การฝึกระยะยาวเป็นหลักสูตรเตรียมเข้าทำงาน ผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่ไม่มีพื้นฐานในสาขาที่อบรม จึงแบ่งการฝึกออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกดำเนินการฝึกในหน่วยงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ช่วงที่ 2 จะฝึกภาคปฏิบัติในสถานประกอบกิจการ
เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้ฝึกประสบการณ์การทำงาน โดยส่งเข้าไปฝึกงานยังบริษัทที่มีตำแหน่งงานว่าง โดยเฉพาะสถานประกอบกิจการในเขตพื้นที่ EEC เพื่อให้เจ้าของกิจการ หัวหน้างาน ได้สังเกตุพฤติกรรมในการทำงาน รวมถึงทักษะฝีมือ หากตรงตามความต้องการจะรับเข้าทำงานทันที
นายสุชาติ กล่าวต่อไปว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ดำเนินการฝึกทักษะหลักสูตรเตรียมเข้าทำงาน โดยเน้นย้ำเรื่องคุณภาพเป็นหลัก ให้เป็นแรงงานคุณภาพ (Super Worker) มีทักษะฝีมือที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมและบริการ มุ่งแก้ปัญหาขาดแคลนกำลังแรงาน
โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ซึ่งปี 2562 มีเป้าหมายดำเนินการทั่วประเทศจำนวน 5,259 คน ดำเนินการแล้ว 2,852 คน สาขาฝึก เช่น ช่างเชื่อม ช่างก่อสร้าง ช่างอุตสาหการ ช่างกล ช่างไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ช่างอุตสาหกรรมศิลป์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการแรงงานในพื้นที่ อาทิ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 10 ลำปาง (สพร.10 ลำปาง) มีเป้าหมายฝึกเตรียมเข้าทำงานจำนวน 120 คน ดำเนินการฝึกอบรมจำนวน 2 สาขา ได้แก่ สาขาช่างสีรถยนต์ และสาขาช่างเชื่่อมอาร์กโลหะด้วยมือ ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม – 26 กันยายน 2562 ซึ่งฝึกใน สพร.10 ลำปาง ระยะเวลา 4 เดือน (560 ชั่วโมง) และฝึกในสถานประกอบกิจการอีก 2 เดือน (280 ชั่วโมง) ทั้งนี้ผู้เข้ารับการฝึกสาขาช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ จะได้รับการฝึกควบคุมหุ่นยนต์ในงานเชื่อมอุตสาหกรรม (Industrial Welding Robot) ด้วย
นายอาโกะ เลเชอร์ อายุ 29 ปี เป็นคนจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นช่างเชื่อมโลหะที่บริษัท สล็อท-นานไก จำกัด จ.ชลบุรี เล่าว่า ได้มีโอกาสเข้ารับการอบรม สาขาเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือกับ สพร.10 ลำปาง เมื่อ พ.ศ.2558 ใช้ระยะเวลา 4 เดือน และฝึกที่บริษัท สล็อท-นานไก จำกัด อีก 2 เดือน ได้ฝึกภาคปฏิบัติเยอะมาก ทำให้มีทักษะด้านงานเชื่อมดีขึ้น ซึ่งแตกต่างจากการเรียนในวิทยาลัย จะเรียนทฤษฎีมากกว่า และการมาฝึกอบรมที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้รับโอกาสที่ดี เพราะหลังจากฝึกงานแล้ว บริษัทฯ รับเข้าทำงานทันที จากเดิมที่เคยเป็นลูกจ้างในร้านจำหน่ายวัสดุและรับเหมาก่อสร้าง มีรายได้วันละ 300 บาท ปัจจุบันมีรายได้หลักหมื่นบาท รู้สึกมีความสุขกับงานที่ทำ เคยคิดว่างานในเมืองไทยหายาก เงินเดือนน้อยและคิดจะไปทำงานต่างประเทศ แต่ก็เปลี่ยนใจ ตอนนี้มีงานทำและมีรายได้เพียงพอดูแลตนเองและครอบครัวแล้ว
“กพร.ยังมีหลักสูตรที่ฝึกอีกหลายสาขา ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน www.dsd.go.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4” อธิบดี กพร. กล่าว