เอสซีบี อบาคัส เปิดมุมมองเทคโนโลยีที่พลิกโฉมโลกการเงินในอาเซียนต่อกลุ่มประเทศ G20
เอสซีบี อบาคัส โดย ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้เป็นตัวแทนหนึ่งเดียวจากประเทศไทยที่เข้าร่วมเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและเสวนาร่วมกับผู้นำระดับสูงขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนรวมกว่า 500 คน
จากกลุ่มประเทศ G20 ในงานประชุมประจำปีสมาชิกสถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือ 2019 IIF Spring Membership Meeting ซึ่งจัดขึ้นพร้อมกับการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่มประเทศ G20 ในประเด็นเกี่ยวกับการแบ่งแยกการกำกับดูแลกิจการการเงินของโลก การเงินที่ยั่งยืน การใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีในภาคการเงิน และการก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางประชากรของโลก เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ดร. สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด คือผู้บริหารไทยเพียงหนึ่งเดียวบนเวทีสนทนาในหัวข้อ “Views from the C-Suite: Asia” ร่วมกับผู้บริหารสูงสุดจากแวดวงการเงินระหว่างประเทศจากทั่วเอเชีย โดยหัวข้อดังกล่าวครอบคลุมประเด็นเกี่ยวกับความท้าทายและโอกาสท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการค้า โครงการเส้นทางเชื่อมโยงทางการค้าใหม่ของจีน (China’s Belt & Road) ความร่วมมือระหว่างภูมิภาค และเทคโนโลยีด้านการเงิน
ดร. สุทธาภา ได้กล่าวเปิดประเด็นเกี่ยวกับความท้าทายทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนในฐานะตัวแทนประเทศไทย ซึ่งเป็นประธานอาเซียนปี 2562 นี้ ว่ามี 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.) การบูรณาการและการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ซึ่งผลักดันศักยภาพของความเป็นศูนย์กลางการส่งออกของภูมิภาคนี้ให้เด่นชัดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่านอกจากทำให้เกิดการโยกย้ายโดยอิสระของสินค้าและบริการ เงินทุน และแรงงานแล้ว ยังรวมไปถึงการโยกย้ายข้อมูลและดาต้าอีกด้วย และ 2.) การก้าวให้ทันเทคโนโลยีและการเสริมสร้างทักษะความเข้าใจของผู้คนในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งนอกจากภาครัฐบาลแล้ว ภาคเอกชนก็สามารถมีบทบาทในการวางแนวทางการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อให้การใช้เทคโนโลยีขยายในวงกว้างอย่างถูกทิศทางเช่นกัน
สำหรับเทคโนโลยี AI ที่กำลังมีบทบาทอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงพัฒนาของโลก ดร.สุทธาภา เผยมุมมองจากสายตาของผู้นำองค์กรซึ่งบุกเบิกด้านการพัฒนาเทคโนโลยี AI เพื่อตอบโจทย์การใช้งานทางธุรกิจของไทยว่าระบบอัตโนมัติกำลังเข้ามาแทนที่หลายตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมต่างๆ และคาดว่าองค์กรที่มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านดาต้าจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาด ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นในอเมริกา โดยธุรกิจที่นำเทคโนโลยี AI มารปะยุกต์ใช้โดยตรงในปัจจุบัน ได้แก่ ภาคเทคโนโลยี การสื่อสาร การเงิน และคาดว่าจะขยายไปสู่ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การศึกษา การเกษตร และโลจิสติกส์ ในอนาคตอันใกล้
“การปฏิวัติธุรกิจการเงินด้วย AI ในปัจจุบันเกิดจากผลกระทบทางการแข่งขัน โดยผู้ประกอบการในธุรกิจด้านเทคโนโลยีอื่นๆ เล็งเห็นถึงโอกาสจากการนำเทคโนโลยี AI และข้อมูลผู้บริโภคจำนวนมหาศาลมาใช้เพื่อเข้าสู่ตลาดภาคการเงิน อย่างไรก็ตาม แวดวงการเงินทุกวันนี้ได้ใช้ AI ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของผู้บริโภค การกำหนดวงเงินสินเชื่อเฉพาะราย การตั้งเป้าหมายทางการตลาด และการป้องกันการทุจริต โดยธนาคารชั้นนำหลายแห่งเล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีนี้ และได้ลงทุนอย่างมหาศาลเพื่อพัฒนาธุรกิจให้เท่าทัน ทั้งยังลุกขึ้นมาสนับสนุนบริษัทสตาร์ทอัพกลุ่ม Fin Tech มากกว่ามองเป็นคู่แข่งรายใหม่ในตลาด อย่างไรก็ดี บริษัทเหล่านี้จะต้องให้ความสำคัญและมีความรับผิดชอบต่อข้อมูลของลูกค้าเพื่อให้การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวเกิดประโยชน์สูงสุด” ดร.สุทธาภา กล่าวทิ้งท้าย