สสว. จับมือ ซีอีเอ ร่วมกันยกระดับอุตสาหกรรมสปาไทย
สสว. จับมือ ซีอีเอ ร่วมกันยกระดับอุตสาหกรรมสปาไทย ด้วยความคิดสร้างสรรค์ติดสปีด “สปา-นวดไทย” ด้วยบันได 5 ขั้น สู่ ธุรกิจบริการเพื่อสุขภาพเกรดพรีเมียมระดับสากล
กรุงเทพฯ 2 เมษายน 2562 – สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จัดกิจกรรมยกระดับและเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมสปาไทย ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Regular Level) ปี 2562 เพื่อติดสปีดผู้ประกอบการสปาไทย ด้วยกระบวนการคิดสร้างสรรค์ สร้างจุดขายให้แบรนด์และเพิ่มมูลค่าธุรกิจ ด้วยกิจกรรมหลักเสริมแกร่งผู้ประกอบการสปาและนวดไทยแบบครบวงจร ได้แก่ การจัดอบรมสัมมนาเทรนด์ธุรกิจสปา การจัดอบรมเพื่อสร้างจุดขายที่แตกต่าง การให้คำปรึกษาเชิงลึก โดยผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ ด้านมาตรฐาน การพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ และการออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจสปาไทยในระดับนานาชาติ และก้าวสู่บริการทางเลือกเพื่อสุขภาพเกรดพรีเมียมอย่างยั่งยืน โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา แต่ละปีอุตสาหกรรมสปาในไทยสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 35,000 ล้านบาท
มีอัตราการเติบโตประมาณ 8% ต่ปี ทั้งนี้ สสว. และ ซีอีเอ ได้จัดพิธีเปิดกิจกรรม “Creative Spa & Wellness Thailand Seminar พลิกแนวคิด สร้างจุดขาย สู่สปาสร้างสรรค์” เมื่อเร็วๆ นี้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร (BACC)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 02-105-7441 หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/creative.spa.thailand
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า จากกระแสรักสุขภาพของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ เป็นผลให้มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพในประเทศไทยมีอัตราการเติบโต สูงกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วโลกอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะ “ธุรกิจสปา” ธุรกิจเพื่อสุขภาพและความงาม ที่ยังคงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศในปัจจุบัน เนื่องจากจุดแข็งด้านการให้บริการ และสมุนไพร ซึ่งเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติ ดังนั้น ธุรกิจสปาและนวดไทย จึงถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญและขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ อีกทั้งยังสร้างอาชีพให้กับบุคคลทั่วไปได้มีรายได้ และในขณะเดียวกัน ยังก่อให้เกิดรายได้แก่อุตสาหกรรมอื่นที่เชื่อมโยงในกระบวนการสปา นับตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอย่าง อุตสาหกรรมเกษตรและการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม แม้จำนวนธุรกิจสปาในประเทศไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ภาพลักษณ์ธุรกิจสีเทาในบางสถานประกอบการ ยังเป็นอุปสรรคต่อการสร้างจุดขายให้กับสปาแบรนด์ไทย ดังนั้น การจัดกิจกรรมยกระดับและเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมสปาไทย ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Regular Level) ปี 2562 จึงมีส่วนสำคัญในการช่วยยกระดับและผลักดันศักยภาพของธุรกิจสปาและนวดไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ผ่านผสานความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตร ถ่ายทอดองค์ความรู้ในมิติต่างๆ ทั้งการ ‘พลิกแนวคิด’ ธุรกิจสปาไทยให้เป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพของคนไทยและนักท่องเที่ยว รวมไปถึงก้าวพ้นจากภาพลักษณ์ของธุรกิจสีเทา พร้อม ‘สร้างจุดขาย’ โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการบนพื้นฐาน
ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อผลักดันให้เอสเอ็มอีไทยเติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากล อันจะเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้อย่างเป็นรูปธรรม นายสุวรรณชัย กล่าว
นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า จากการเล็งเห็นถึงโอกาสในการยกระดับและเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมสปาไทย บนพื้นฐานของการได้เปรียบด้านวัฒนธรรม วัตถุดิบทางการเกษตร ชื่อเสียงด้านบริการและการท่องเที่ยว สู่การยกระดับอุตสาหกรรมสปาไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของรัฐบาล ที่มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านสปา เวลเนส และนวดไทยระดับโลก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) จึงได้ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดำเนินกิจกรรม “ยกระดับและเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมสปาไทย” (Creative Spa & Wellness Thailand) ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Regular Level) ปี 2562 เพื่อเป็นการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสปาไทย ด้วยกระบวนการคิดสร้างสรรค์ สร้างจุดขายให้แบรนด์และเพิ่มมูลค่าธุรกิจ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าว ได้ดำเนินงานภายใต้เครื่องมือเสริมแกร่งให้ผู้ประกอบการสปาและนวดไทยแบบครบวงจร ผ่าน 5 กิจกรรมหลัก ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
· การจัดอบรมสัมมนาเทรนด์ธุรกิจสปา เพื่อกระตุ้นแนวทางการสร้างจุดขายใหม่ของผลิตภัณฑ์หรือบริการสปา เวลเนส และนวดไทย แนวโน้มการตลาดสปา (Spa Market & Trends) การออกแบบและการเพิ่มมูลค่า (Design & Value Creation) การสร้างแบรนด์และการตลาด (Creative Spa Branding & Digital Marketing)
· การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างจุดขายที่แตกต่าง สำหรับกลุ่มธุรกิจบริการ และกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างไอเดียและปรับกลยุทธ์ในการสร้างจุดขายที่แตกต่าง ผ่านการออกแบบบริการ (Service Design) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development)
· การให้คำปรึกษาเชิงลึกโดยผู้เชี่ยวชาญ ด้วยการลงพื้นที่เยี่ยมธุรกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อแนะนำการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พร้อมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหรือบริการ
· การพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ ให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและสร้างมูลค่าเพิ่ม
· การออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ การนำผลิตภัณฑ์หรือสินค้าของผู้ประกอบการมาต่อยอดทางธุรกิจด้วยช่องทางการขายและทดสอบตลาดในต่างประเทศ
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว กำลังเปิดรับสมัครผู้ประกอบการสปาและนวดไทยจากทั่วประเทศเพื่อพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์อย่างเข้มข้น โดยกิจกรรมจะเกิดขึ้นภายในเดือนเมษายน – สิงหาคม 2562 ด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการ การให้คำปรึกษาเชิงลึก พัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ และคัดเลือก 15 ผู้ประกอบการ เพื่อทดสอบตลาดในต่างประเทศเป็นลำดับต่อไป นายอภิสิทธิ์ กล่าว
กิจกรรม “ยกระดับและเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมสปาไทย” โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Regular Level) ปี 2562 ถือเป็นการสร้างจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ ในการยกระดับธุรกิจสปาไทยให้เป็นหนึ่งในบริการทางเลือกเพื่อสุขภาพที่น่าเชื่อถือ ได้รับการรับรองคุณภาพและมาตรฐานบริการของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ บนพื้นฐานของผู้ประกอบการที่มีทักษะในการสร้างจุดขายธุรกิจ พัฒนาแบรนด์ให้มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น พร้อมด้วยบุคลากรภาคบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกในการให้บริการที่ครบครัน เพื่อเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่แก่ผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจสปาไทยในระดับนานาชาติ อันเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศไทยให้เติบโตและก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน นายอภิสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมสปาของไทยในภาพรวม ติดอันดับที่ 16 ของโลก และเป็นอันดับที่ 5 ของเอเชีย จากการประมาณการโดย Global Wellness Institute (GWI) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) จัดกิจกรรม “Creative Spa & Wellness Thailand Seminar พลิกแนวคิด สร้างจุดขาย สู่สปาสร้างสรรค์” พร้อมเปิดเวทีเสวนา “ผ่ากลยุทธ์…สู่อนาคต ธุรกิจส่งเสริมบริการสุขภาพ” เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ระดับโลก โดยผู้เชี่ยวชาญจากอุตสาหกรรมสปาไทย ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร (BACC) เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ.