มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่กองทุนรวมเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่กองทุนรวมเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2560 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
กำหนดให้บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ดังนี้
1. สำหรับบุคคลธรรมดา ให้หักลดหย่อนได้เป็นจำนวน 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่นๆ
2. สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้หักเป็นรายจ่ายได้เป็นจำนวน 2 เท่า ของรายจ่ายที่บริจาค ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบและรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสร้าง และการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของเอกชนที่เปิดให้ประชาชนใช้เป็นการทั่วไปโดยไม่เก็บค่าบริการใดๆ หรือสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของทางราชการแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร
ทั้งนี้ สำหรับการบริจาคที่กระทำตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563
มาตรการดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการบริจาคเพื่อการศึกษา โดยกองทุนจะสามารถนำเงินบริจาคไปอุดหนุนโรงเรียนที่ยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนใดจัดสรรงบประมาณหรือเงินทุนให้ ทั้งนี้ การได้รับเงินบริจาคจากกองทุนจะช่วยส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนได้รับการสนับสนุนทางการศึกษาจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพในการสร้างรายได้ให้ประเทศและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว และจะช่วยสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือทางสังคมในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางการศึกษา และขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นำไปสู่การพัฒนาบุคลากรเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน.