คปภ.นำร่อง PA อุ้มบัตรสวัสดิการฯ
คปภ.พร้อมดันประกันอุบัติเหตุ (PA) นำร่องกลุ่มบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.6 ล้านคน หาก “คลัง-รัฐบาล” ไฟเขียวงบหลวงล็อตแรก 4,000 ล้านบาท ส่วนประกันสุขภาพ-ประกันชีวิต งบสูงอาจล่าช้า เหตุต้องให้ภาคเอกชนอยู่ได้ด้วย
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวถึงนโยบายเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.6 ล้านคน เข้าถึงระบบประกันภัย ตั้งแต่ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) การประกันชีวิต และประกันสุขภาพ ครอบคุมโรคร้ายแรงบางชนิด ว่า เป็นเรื่องดีและทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น คปภ.หรือธุรกิจประกันภัย ต่างเห็นด้วยในหลักการจากนโยบายของรัฐบาล เพียงแต่บางเรื่องต้องหารือในรายละเอียด ขณะที่บางเรื่อง โดยเฉพาะในส่วนของ PA หากนำมาใช้ร่วมกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่รัฐบาลมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว สามารถดำเนินการได้ทันทีที่รัฐบาลอนุมัติงบประมาณตามที่ได้เสนอไป
“ผมได้เสนอโครงการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล หรือ PA ไปให้ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้พิจารณาแล้ว ซึ่ง PA ถือเป็นการประกันภัยที่ไม่สลับซับซ้อนอะไรมากนัก หาก สศค.เห็นด้วยกับข้อเสนอของ คปภ. โดยเฉพาะงบประมาณที่เสนอไป ก็สามารถดำเนินการได้ทันที”
สำหรับเบี้ยประกันฯที่ คปภ.ได้เสนอไปมีหลายแนวทาง แต่แนวทางที่มีความเป็นไปได้ คือ การกำหนดเบี้ยประกันฯขั้นต่ำที่ 60 บาท/ปี หรือ 5 บาท/เดือน เพียงแต่จะไม่ครอบคลุมการจ่ายเงินชดเชย กรณีเกิดอุบัติเหตุและต้องเข้ารับการรักษาตัว ซึ่งหากให้ครอบคลุมในส่วนนี้ ค่าเบี้ยประกันฯอาจขยับขึ้นเป็น 99 บาท/ปี หรือ 8 บาทเศษ/เดือน โดยครอบคลุมเงินชดเชยได้ 200-300 บาท/วัน
เลขาธิการ คปภ.ย้ำว่า รูปแบบการทำ “พูลลิ่ง” หรือการประจายความเสี่ยงที่ใช้กับการทำประกันภัยข้าวนาปี จนประสบผลสำเร็จตลอดหลายปีที่ผ่านมา จะถูกนำไปเป็นต้นแบบให้กับการทำประกันภัยอื่นๆ โดยเฉพาะ PA รวมถึงการประกันสุขภาพ การประกันชีวิต และประกันภัยใหม่ๆ ที่จะมีตามมาในอนาคต
“ฝ่ายนโยบายที่เคยกังวลใจว่าการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการทำประกันภัยให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อาจทำให้ผลประโยชน์ไปตกอยู่กับบางบริษัทประกันภัยได้ แต่พอ คปภ.อธิบายถึงรูปแบบ “พูลลิ่ง ซิสเต็ม” ที่ประสบผลสำเร็จกับการประกันภัยข้าวนาปีมาแล้ว ทำให้ฝ่ายนโยบายรู้สึกเบาใจ และมีแนวโน้มจะสั่งการให้ดำดนินการขับเคลื่อนโครงการที่จะนำระบบประกันภัยไปสู่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและคนฐานรากของประเทศได้เข้าถึงสวัสดิการดีๆ เช่นนี้”
ในส่วนของการประกันสุขภาพและประกันชีวิตนั้น จากการศึกษาพบว่าผลิตภัณฑ์ของทั้ง 2 ตัวมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกัยรายได้ของประชาชนและไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากนัก จำเป็นจะต้องสร้างระบบประกันสุขภาพและประกันชีวิตให้กับคนฐานรากผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐฯ เพียงแต่ค่าเบี้ยประกันฯคงต้องเป็นราคาที่เหมาะสมและทุกฝ่ายยอมรับได้ ขณะที่กลุ่มคนที่มีความพร้อมทางการเงินก็ยังคงซื้อระบบประกันสุขภาพและประกันชีวิตระดับพรีเมี่ยมต่อไป
“หาก คปภ.ไปกำหนดกฎเกณฑ์บังคับให้บริษัทประกันภัยต้องเข้าร่วมโครงการฯ โดยที่บริษัทประกันภัยต้องแบกรับความเสี่ยงทางธุรกิจ สุดท้ายโครงการนี้ก็จะไม่ได้รับความสนใจและต้องล้มเลิกกันไป”
ดร.สุทธิพลยังกล่าวอีกว่า หากโครงการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงระบบประกันภัยให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเกี่ยวพันกับคนจำนวนมากถึง 14.6 ล้านคนสำเร็จ จะนับเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญของอุตสาหกรรมประกันภัยในแง่การเติบของค่าเบี้ยประกัยรับ ไม่เพียงแค่นั้น คปภ.ยังอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถึงการนำระบบประกันภัยมาใช้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งแต่ละปีมีมากถึง 40 ล้านคน และยังไม่นับรวมเงื่อนไขตามข้อกฎหมายของหน่วยงานอื่นๆ ที่จะมีตามมาในอนาคตอีก ซึ่งนั่นจะทำให้ขนาดของอุตสาหกรรมประกันภัยของไทย เติบโตอย่างก้าวกระโดดเลยทีเดียว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งบประมาณที่ คปภ.เสนอผ่านไปยัง สศค.เฉพาะในส่วนของ PA นั้น หากคิดจากยอดผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 40.6 ล้านคน และค่าเบี้ยประกันภัย PA (ครอบคลุมเงินชดเชยค่ารักษาพยาบาล) คนละ 99 บาท/ปี จะทำให้รัฐบาลต้องควักจ่ายเฉพาะงบประมาณในส่วนนี้รวมกันมากกว่า 4,000 ล้านบาท โดยยังไม่นับรวมการประกันสุขภาพและประกันชีวิตที่ต้องใช้เงินเป็นค่าเบี้ยประกันฯต่อคนสูงกว่า PA หลายเท่าตัว และประกันพืชผลทางการเกษตรและประมงพื้นบ้านที่ได้ดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งจะทำให้วงเงินจากการประกันภันรูปแบบต่างๆ ผ่าน คปภ. ในแต่ละปีสูงมากจนอาจทำให้บางโครงการมีความล่าช้า และบางโครงการอาจถึงขั้นไม่ได้เกิดก็ได้.