ก.อุตสาหกรรมดึงเอกชน ร่วมขับเคลื่อนเทคโนโลยีรีไซเคิล
กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งเครื่องผลักดัน ขยายผลนวัตกรรมและเทคโนโลยีรีไซเคิล ดึงเครือข่ายผู้ประกอบการร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Circular Economy ด้วย Innovation และ New Business Model
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมหารือร่วมระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับเครือข่ายผู้ประกอบการ เพื่อขับเคลื่อนสู่ Circular Economy ด้วย Innovation และ New Business Model ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนเทคโนโลยีรีไซเคิล กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยกล่าวว่า การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างเป็นรูปธรรมด้วยนวัตกรรม (Innovation) และรูปแบบธุรกิจใหม่ (New Business Model) เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศ โดยการเปลี่ยนขยะหรือของเสียที่ถูกมองว่าเป็นปัญหากลับมาใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบทดแทน เพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใหม่ หรือ “Waste to Resource” ตามแนวคิด Circular Economy ซึ่งปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีรีไซเคิลที่เป็นเทคโนโลยีต้นแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และได้รับการพิสูจน์ความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีรวม 49 ชนิด โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิล กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center: ITC) ด้านเทคโนโลยีรีไซเคิลและนวัตกรรมวัตถุดิบของกระทรวงอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ในส่วนของภาคเอกชน ยังมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีรีไซเคิลขยะหรือของเสียอีกหลายชนิด ซึ่งหากกระทรวงอุตสาหกรรมและเครือข่ายผู้ประกอบการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกัน และ ปลดล็อกข้อจำกัดทางกฎระเบียบที่เป็นปัญหาและอุปสรรค จะสามารถสร้างผู้ประกอบการใหม่ (Start-up) และยกระดับผู้ประกอบการ (Level-up) เดิม เพื่อขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ในวงกว้าง ร่วมกันเปลี่ยนขยะหรือของเสียเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทน ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใหม่ ลดการเกิดขยะและปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ Circular Economy ได้อย่างเป็นรูปธรรม
นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมหารือในวันนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากเครือข่ายผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้ประกอบการรวบรวมคัดแยกของเสีย ผู้ประกอบการรีไซเคิล ผู้ประกอบการกำจัดบำบัดของเสีย ไปจนถึงผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการนำของเสียไปใช้ประโยชน์ โดยทุกฝ่ายมีความเห็นพ้องและมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกัน
นอกจากนี้ จากการหารือในครั้งนี้ สามารถระดมความเห็นแนวทางการผลักดันสู่ Circular Economy ด้วย Innovation และ News Business Model ได้หลายแนวทางซึ่งจะก่อให้เกิดรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ ๆ (Start-up) และการยกระดับผู้ประกอบการ (Level-up) อาทิ การให้บริการ Waste Pre-treatment ที่แหล่งกำเนิดของเสีย เพื่อให้ง่ายต่อกระบวนการรีไซเคิลในขั้นตอนต่อไป การให้บริการเช่า เช่น สารเคมีแทนการขายขาด โดยบริษัทผู้ผลิต/จำหน่ายเป็นผู้รับสารเคมีที่เหลือใช้และภาชนะที่บรรจุไป Reuse หรือ Recycle หรือจัดการตามหลักวิชาการต่อไป หรือการให้บริการเช่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตหรือรีไซเคิล ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกัน การออกแบบหรือปรับปรุงกระบวนการผลิต รวมถึงกระบวนการบำบัดของเสีย เพื่อเอื้อต่อการนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด การนำของเสียที่มีศักยภาพสูงในการีไซเคิล เช่น โลหะมีค่า ที่อยู่ในหลุมฝังกลบที่มีอยู่เดิมกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เป็นต้น
“ความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม โดย กพร. กับเครือข่ายผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ที่สามารถ เร่งดำเนินการได้อย่างทันที คือ การต่อยอดและพัฒนาเทคโนโลยีที่มีอยู่ทั้งของ กพร. และเครือข่ายผู้ประกอบการ โดยเน้นการใช้ประโยชน์จากเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถรีไซเคิลขยะหรือของเสีย ประเภทอื่น ๆ ได้เพิ่มขึ้น ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใหม่ ลดการเกิดขยะและปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ผมเชื่อว่าตอนนี้มุมมองเราได้เปลี่ยนไปแล้ว คือ เราต้องเพิ่มมูลค่าทรัพย์บนดิน สินในเมืองที่เป็นวัตถุดิบที่อยู่ในรูปขยะหรือของเสีย ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองหลักขับเคลื่อนสู่ Zero Waste Society และ Circular Economy” นายวิษณุ กล่าว