“ทิพย” ช่วยลดภาระหนี้ครู
ทิพยประกันภัย ยืนยันกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพสินเชื่อปลอดภัย หวังช่วยข้าราชการครูเข้าถึงแหล่งเงินกู้สะดวก รวดเร็วขึ้น พร้อมทั้งได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและถูกกฎหมาย ขณะที่ทายาทและผู้ค้ำประกันไม่ต้องแบกภาระจ่ายหนี้ต่อหากผู้กู้เสียชีวิต โดยบริษัทจะรับหน้าที่จ่ายหนี้ที่เหลือทั้งหมดแทน
ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึง กรณีที่มีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษการประกันภัยในโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิกกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกครู (ชพค.) ต่อหน่วยงานภาครัฐ ว่า สืบเนื่องจากปี 2552 บริษัท ได้รับเชิญจากธนาคารออมสินและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ให้เสนอการประกันสินเชื่อให้แก่ข้าราชการครูในโครงการสวัสดิการเงินกู้ ชพค. เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ข้าราชการครูเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบที่ถูกต้องและคิดอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ในการนำไปชำระคืนหนี้นอกระบบ
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวกำหนดให้ข้าราชการครูต้องการผู้ค้ำประกันเงินกู้ตามวงเงินกู้ที่ธนาคารออมสินกำหนด ซึ่งต้องใช้คนค้ำประกันตั้งแต่ 5-10 คน เพื่อค้ำประกันซึ่งกันและกัน หากเกิดกรณีที่ผู้กู้เสียชีวิต ผู้ค้ำประกันจะต้องแบกรับภาระหนี้ที่เหลือแทน ทำให้ข้าราชการครูหาคนค้ำประกันได้ยาก ดั้งนั้นบริษัทจึงได้เสนอกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุและและสุขภาพสินเชื่อปลอดภัยแบบความคุ้มครองทุนประกันเต็มวงเงินกู้แบบทุนประกันคงที่ เพื่อลดความเสี่ยงทุนประกันไม่พอมูลหนี้คงเหลือ โดยบริษัทจะเป็นผู้ชำระคืนเงินกู้ที่เหลือให้แก่ธนาคารออมสินเต็มจำนวน เมื่อเกิดกรณีที่ผู้กู้เสียชีวิต
สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพสินเชื่อปลอดภัย กำหนดเงื่อนไขรับประกันให้แก่ข้าราชการครูทุกรายที่แจ้งความประสงค์ โดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ ผู้ที่เข้าร่วมโครงการครั้งแรกอายุต้องไม่เกิน 65 ปี เบี้ยประกันอัตราเดียวสำหรับทุกเพศ ทุกช่วงอายุที่ 620 บาท/ปี/ต่อทุนประกัน 100,000บาท ซึ่งคำนวณจากจำนวนเงินกู้โดยได้ให้ส่วนลดและต่ำกว่าราคาตลาดประมาณ 15%
โดยกรมธรรม์ฉบับดังกล่าว ให้ความคุ้มครองภัยจากอุบัติเหตุ และสุขภาพรวมทั้งการเจ็บป่วยด้วย ภาวะโรคร้ายแรง คือ ภาวะโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ภาวะโคมา (Coma) ภาวะระบบทางเดินหายใจล้มเหลว (Respiratory Failure) ภาวะสมองตายและระบบประสาทล้มเหลว (Brain Death and Neurologic Failure) ด้วย
สำหรับประเด็นการจัดเก็บเบี้ยประกันล่วงหน้า 9 ปี นั้น ดร.สมพร กล่าวว่า บริษัทได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เรียบร้อยแล้ว หากผู้กู้ชำระหนี้ครบก่อนกำหนด 9 ปี สามารถขอคืนเบี้ยส่วนที่ชำระไว้เกินได้ หรือหากชำระหนี้ยังไม่หมดสามารถต่ออายุกรมธรรม์ได้เช่นกัน แต่ผู้กู้ต้องมีอายุไม่เกิน 74 ปี
ประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตผู้กู้ในโครงการนี้ไม่ได้รับกรมธรรม์ ดร.สมพร กล่าวว่า การประกันภัยในโครงการนี้เป็นการประกันภัยแบบกลุ่ม บมจ.ทิพยประกันภัย ได้ออกกรมธรรม์ฉบับเต็มให้แก่ธนาคารออมสิน ในฐานะเจ้าหนี้ จำนวน 1 ฉบับ และสำนักงาน สกสค. ในฐานะผู้ดูแลโครงการสวัสดิการเงินกู้ ชพค. อีก 1 ฉบับ โดยหลังจากที่ผู้กู้ได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้ว บริษัทจะนำส่งใบรับรองการประกันภัยพร้อมเอกสารสรุปสาระสำคัญของความคุ้มครองให้ผู้กู้ตามที่อยู่ที่ได้แจ้งไว้
ดร.สมพร กล่าวเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน บมจ.ทิพยประกันภัย ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ธนาคารออมสิน และทายาทของผู้เสียชีวิต ครบทุกราย โดยไม่เคยขอสำเนาใบรับรองหรือกรมธรรม์จากทายาทผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด เนื่องจากบริษัทมีฐานข้อมูลรายชื่อผู้กู้ที่ทำประกันไว้ครบทุกรายอยู่แล้ว โดยมีการจ่ายสินไหมทดแทนรวมทั้งสิ้น 24,740 ราย คิดเป็นเงินค่าสินไหมรวมทั้งสิ้น 12,642.98 ล้านบาท และในจำนวนนี้เป็นการจ่ายคืนให้ทายาท ในกรณีมีส่วนที่เกินจากมูลหนี้ที่คงค้างอยู่ สูงถึง 772.89 ล้านบาทด้วย
“บมจ.ทิพยประกันภัย ยืนยันกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพสินเชื่อปลอดภัยได้ดำเนินการอย่างถูกต้องและได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเห็นว่ากรมธรรม์ในโครงการนี้เป็นประโยชน์ ทำให้ข้าราชการครูสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้สะดวกขึ้น รวมทั้งภาระไม่ต้องตกอยู่กับผู้ค้ำประกัน หรือทายาท หากกรณีที่ผู้กู้เสียชีวิตก่อนชำระหนี้คืนทั้งหมด รวมทั้งทายาทยังได้รับประโยชน์หากมีเงินส่วนเกินจากการชำระหนี้ บริษัทก็จะจ่ายเงินส่วนเกินคืนให้ทายาทด้วย” ดร.สมพร กล่าว