เสธ.แดงโชว์ผลงาน 1 ปี
เสธ.แดง โชว์ผลงานครบรอบ 1 ปี มั่นใจสลากขายปลีกไม่เกินคู่ละ 80 บาททั่วประเทศ มากถึง 80% ย้ำสอบผ่านได้ 8 จากเต็ม 10 โยนหวยออนไลน์ให้รัฐบาลตัดสินใจ
“ผมไม่อยากให้คะแนนตัวเอง แต่หากต้องให้แล้ว คิดว่า ผมสอบผ่านได้ 8 คะแนนจากเต็ม 10” พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ หรือ เสธ.แดง ในฐานะประธานกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล แถลงข่าววันที่ 26 พ.ค. หลังจากครบรอบ 1 ปี เมื่อวันที่ 1 พ.ค.59 และกล่าวว่า
“ผมได้รับการแต่งตั้งจากมาตร 44 เป็นฉบับแรกหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งผมเป็นประธานบอร์ดชุดใหม่เข้าไปบริหารงานสลากฯ”
พล.ท.อภิรัชต์ กล่าวว่า จากแผนงาน (Road Map) ที่วางเอาไว้ 3 ระยะเพื่อแก้ไขการจำหน่ายสลากเกินราคา และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมผลปรากฏว่า ขณะนี้แผงค้าสลากทุกแผง มีสลากขายในราคาไม่เกินคู่ละ 80 บาททั่วประเทศประมาณ 80% ส่วนที่เหลืออีก 20% มีการขายเกินราคาบ้างเนื่องจากเป็นเลขชุด และบางส่วนเกิดจากพ่อค้า แม่ค้าเร่ที่เดินขายตามท้องถนน
“ผมถือว่าประสบความสำเร็จจากนั่งทำงานในฐานะประธานบอร์ดสลากฯ เพราะสามารถกำหนดราคาขายปลีกสลากเอาไว้ไม่เกินคู่ละ 80 บาท ได้ประมาณ 80% ทั่วประเทศ และหากให้คะแนนตัวเองผมว่าได้ 8 คะแนนจากเต็ม 10 เพราะในโลกนี้ไม่มีอะไรสามารถทำได้ครบ 100%”
สถานการณ์ของสลากในขณะนี้ เชื่อมั่นว่ากลไกลตลาดของสลากเริ่มทำงานอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว หลังจากสำนักงานสลากฯ ได้ปฏิบัติตามแผนงานไปแล้ว 2 ระยะคือ 1.การจัดระเบียบและบังคับใช้กฎหมาย 2.การปรับแผนและทิศทางการจำหน่ายสลากซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ในระยะที่ 3 คือ การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน และเป็นธรรม โดยในช่วงที่ผ่านมา สำนักงานสลากฯ ได้ประกาศกำหนดราคาขายสลากไม่เกินคู่ละ 80 บาทตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.58 โดยตัวแทนจำหน่ายสลากได้รับส่วนลดในอัตราใหม่ที่เพิ่มขึ้น จากเดิม 7-9% เพิ่มขึ้นเป็น 12-14% ทำให้ผู้ค้ามีกำไรมากขึ้น พร้อมกับบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดและลงโทษผู้ค้าสลากเกินราคาจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้ 415 ราย
นอกจากนี้บอร์ดฯ ยังประกาศยกเลิกรางวัลแจ๊กพ็อตเพื่อเป็นการกระจายการถูกรางวัลที่ 1 และยังเพิ่มการออกรางวัลเลขหน้า 3 ตัวเป็นครั้งแรก ตั้งแต่งวดวันที่ 1 ก.ย.2558 เพื่อลดปัญหาเลขท้ายที่ไม่นิยม และการรวบเลขชุด ขณะเดียวกันบอร์ดฯ ยังได้มีการจัดสรรสลากให้แก่รายย่อยใหม่ทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน จากเดิมผู้ค้าสลากได้รับโควต้าคนละตั้งแต่ 1.25 เล่มไปจนถึง 125 เล่ม (1 เล่มมี 200 ฉบับ หรือ 100 คู่) เปลี่ยนเป็นคนละ 5 เล่ม ซึ่งวิธีการนี้สามารถตัดวงจรผู้ค้ารายใหญ่ และกระจายโอกาสให้กับผู้ค้ารายย่อย
“ที่สำคัญคือ บอร์ดสลากฯ ได้เปิดให้มีการจองซื้อและซื้อตรงสลากฯ ผ่านเครื่องกดเงินอัตโนมัติ หรือเอทีเอ็ม อินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง และซื้อผ่านสาขาธนาคารกรุงไทยพร้อมจัดส่งทางไปรษณีย์ ถึงมือผู้ขายโดยตรงในราคาต้นทุนคู่ละ 70.40 บาท ซึ่งปัจจุบันมียอดลงทะเบียนผ่านระบบดังกล่าวกว่า 100,000 ราย โดยในเดือนม.ค. ที่ผ่านมาสำนักงานสลากฯ ได้เพิ่มการพิมพ์สลากจากเดิม 37 ล้านคู่ หรือ 74 ล้านฉบับ ขึ้นไปเป็น 60 ล้านคู่ หรือ 120 ล้านฉบับ ทำให้เกิดการสร้างสมดุลราคาขายปลีกสำหรับผู้ซื้อ และสร้างสมดุลราคาขายส่งให้แก่ผู้ค้าสลากโดยตรง”
ส่วนระยะที่ 3 จะมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการจองซื้อและซื้อตรงสลากผ่าน เอทีเอ็ม อินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้งและสาขาของธนาคารกรุงไทยมากขึ้น และจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.สำนักงานสลากฯ พ.ศ.2517 เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่สำนักงานสลากฯ ในการผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งขณะนี้สำนักงานสลากฯ ได้ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว
“ในอนาคตสำนักงานสลากฯ จะมีหวยออนไลน์ หรืออะไรก็ได้ เช่น หวยขูด เป็นต้น จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลใหม่ หลังจากที่มีการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว เพราะหน้าที่ของผมในการแก้ไขสลากเกินราคาถือประสบความสำเร็จแล้ว เนื่อง จากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่มีใครที่สามารถทำแบบนี้ได้และคงไม่ใช่เพราะผมในฐานะที่เป็นทหาร แต่เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเป็นห่วงเรื่องนี้มากทำให้บอร์ดพนักงานสลากฯ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องการทำงานนี้ให้ประสบความสำเร็จ” ประธานบอร์ดสลาก กล่าวในที่สุด
ขณะที่ พล.ต.ฉลองรัฐ นาคอาทิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ กล่าวว่าในปีที่แล้ว สำนักงานสลากฯ นำส่งรายได้เข้าคลังประ มาณ 14,000 ล้านบาท และในปีนี้ คาดว่าจะสามารถนำส่งรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 20,000 ล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มปริมาณการพิมพ์สลากจาก 74 ล้านฉบับต่องวด ขึ้นเป็น 120 ล้านฉบับต่องวด นอกจากนี้ ยังได้นำส่งเงินจากเงินของกองทุนเพื่อพัฒนาสังคมที่สำนักงานสลากฯ กันเอาไว้ 3% จากการขายสลากฯ ให้กระทรวงการคลังอีก 2,000 บาท
“กรณีที่สำนักงานสลากฯ นำเงินคลังจำนวนมากๆ ก็ถือเป็นเรื่องดีแต่ยอดเงินดังกล่าวมาจากการยกเลิกการพิมพ์สลากการกุศลทำให้องค์กรการกุศลเช่น โรงพยาบาล หรือมูลนิธิการกุศล ขาดรายได้ที่นำไปใช้ทางด้านสังคม ซึ่งขณะนี้ สำนักสลากฯ อยู่ระหว่างการรวบรวมคำขอจากองค์การต่างๆ เหล่านี้เพื่อเสนอกระทรวงการคลังและนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อนำสลากการกุศลกลับมาพิมพ์ใหม่อีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบจำนวนที่ชัดเจน แต่ที่ผ่านมาสำนักงานสลากฯ มียอดพิมพ์สลากการกุศลประมาณ 26 ล้านฉบับหรือ 13 ล้านคู่ โดยยอดการพิมพ์ทั้งหมดรวมแล้วจะไม่เกิน 120 ล้านฉบับต่องวด”.