สุริยะ เซ็น MOU พัฒนา Robot – เพิ่มค่าขยะ
รมว.อุตสาหกรรม บินตรง ญี่ปุ่น เซ็น MOU 2 ฉบับ ผลักดันอุตสาหกรรม Automation-Robotics และเพิ่มมูลค่าขยะรีไซเคิล พร้อมหารือ นโยบาย BCG เพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของทั้ง 2 ประเทศ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางไปเจรจาความร่วมมือด้านการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยมี นายโทโยนากะ อัตซิชิ ประธานองค์การสนับสนุน SME แห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) พร้อมคณะ เข้าหารือแนวทางการพัฒนา SME ร่วมกัน ผ่านรูปแบบกิจกรรมต่างๆ อาทิ โครงการพัฒนานักวินิจฉัย และโครงการ T-Goodtech ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการทั้ง 2 ประเทศ สามารถเชื่อมโยงธุรกิจในรูปแบบ B2B โดยใช้ระบบ IT รวมทั้งการจัดกิจกรรมการเชื่อมโยงธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างกัน โดยที่ผ่านมาก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนจากการจับคู่ธุรกิจกว่า 300 ล้านบาท โดยทั้ง 2 หน่วยงานยืนยันจะพัฒนาความร่วมมือเพื่อให้เกิดการจับคู่ธุรกิจระหว่างกันเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าไว้ 2 เท่าจากเดิม
พร้อมกันนี้ยังได้เข้าร่วมในพิธี ลงนาม MOU ระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม และ สมาคมส่งเสริมเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น (Japan – Thailand Economic Cooperation Society : JTECS) โดยนายทาเคชิ อุชิยามาดะ ประธาน JTECS และ ประธานบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ จำกัด นายฮาจิเมะ คูวาตะ ประธานร่วม JTECS เพื่อผลักดันอุตสาหกรรม Automation และ Robotics ระบบอัตโนมัติในประเทศไทย และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในไทย ซึ่งสอดรับกับนโยบาย Thailand 4.0 รวมถึงการพัฒนา SI หรือ system integrator ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งเป้าการสร้างระบบ SI ให้เกิดขึ้นจำนวน 1,400 ราย ภายในระยะเวลา 4 ปี ซึ่งการลงนามในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยผลักดันให้การจัดตั้งสมาคมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในเวลาอันใกล้นี้
และยังหารือกับ นายอิชิซูกะ ฮิโรอากิ ประธานองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (NEDO) เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาความร่วมมือในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการประหยัดพลังงานผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการสาธิตการ รีไซเคิลซากรถยนต์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม คัดแยกและรีไซเคิลวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ที่เป็นความร่วมมือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และ โครงการสาธิตการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์จากซากชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้มีการลงนาม MOU ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) โดยทั้ง 2 โครงการ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีระหว่าง 2 ประเทศ เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงานจากการนำเอาชิ้นส่วน/วัตถุดิบจากการรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ในระบบอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้มีมูลค่าการลงทุนในธุรกิจดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนั้นยังได้มีการหารือร่วมกันภายใต้นโยบาย BCG คือ Bio Economy , Circular Economy และGreen Industry เพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของทั้ง 2 ประเทศ ภายใต้นโยบายการอนุรักษ์พลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้ให้รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น (Meti) เข้าพบเพื่อหารือเกี่ยวกับการลงทุนในประเทศไทย โดยทาง Meti ระบุว่าโครงการ EEC จะเป็นแกนหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามเป้าหมาย Thailand 4.0 รวมถึงรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่เชื่อมต่อ 3 สนามบินเข้าด้วยกัน ซึ่งญี่ปุ่นพร้อมให้ความร่วมมือในการปรับโครงสร้างพื้นฐานอย่างเต็มที่ อีกทั้ง Meti พร้อมที่จะสนับสนุนในการดึงดูดการลงทุนด้านระบบอัตโนมัติ (Automation) และระบบหุ่นยนต์ (Robotic) โดย Meti ได้ตอบตกลงและยินดีจะเป็นผู้นำนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาเพื่อศึกษาความพร้อมและโอกาสในการลงทุนในประเทศไทยตามพื้นที่ต่างๆ เช่น EEC ด้วยตนเองอีกด้วย