หัวเว่ยเริ่มสร้างสถานีฐาน 5G
ฮ่องกง (รอยเตอร์) – บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนหัวเว่ยระบุว่า บริษัทเริ่มสร้างสถานีฐาน 5G โดยไม่มีชิ้นส่วนของสหรัฐฯ และจำนวนการสร้างสถานีฐาน 5G ทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปีหน้าเนื่องจากหลายประเทศเริ่มใช้เทคโนโลยีนี้มากขึ้น
โดยบริษัทจะเริ่มดำเนินการสร้างสถานีฐานจำนวนมากโดยปราศจากชิ้นส่วนอุปกรณ์ของสหรัฐฯในเดือนต.ค. จากถ้อยแถลงของเหรินเจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัทในการประชุมเมื่อวันที่ 26 ก.ย.
“ เราได้ทำการทดสอบในเดือนส.ค.และก.ย. และตั้งแต่เดือนต.ค.นี้ เราจะเริ่มการสร้างแล้ว” ซีอีโอเหรินกล่าว โดยเสริมว่า จะเริ่มสร้าง 5,000 สถานีฐานที่ไม่ใช้ชิ้นส่วนอุปกรณ์ของสหรัฐฯ ต่อเดือน
คาดการณ์ว่าจำนวนฐานที่สร้างในปีหน้าจะมากถึง 1.5 ล้านยูนิต เมื่อเทียบกับตัวเลขประเมิน 600,000 ยูนิตในปีนี้ ซึ่งเป็นจำนวนรวมกันทั้งสถานีฐานที่ใช้และไม่ใช้อุปกรณ์ของสหรัฐฯ
บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของโลกยังคงอยู่ในบัญชีดำทางการค้าของสหรัฐฯ มาตั้งแต่เดือนพ.ค.ปีนี้ จากความกังวลของสหรัฐฯที่ระบุว่าผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยสามารถใช้เป็นเครื่องมือสอดแนมให้ทางการจีนได้ ซึ่งหัวเว่ยก็ปฏิเสธซ้ำๆ กับคำกล่าวหานี้ และเดินหน้าขับเคลื่อนกลยุทธ์เพื่อลดผลกระทบลงให้ได้มากที่สุด
การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ส่งผลให้บริษัทไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสำคัญได้ ตัวอย่างเช่น สมาร์ทโฟนเรือธงล่าสุดอย่าง Mate 30 ก็จะไม่มีบริการของกูเกิลในโทรศัพท์
วิลล์ จาง ประธานฝ่ายกลยุทธ์ของหัวเว่ยกล่าวให้สัมภาษณ์กับสื่อรอยเตอร์ถึงผลการดำเนินการในการสร้างสถานีฐานโดยปลอดชิ้นส่วนอุปกรณ์ของสหรัฐฯนั้น “ ก็ไม่แย่นัก” และบริษัท “มีผลลัพธ์ที่ดีอย่างน่าประหลาดใจ” โดยเขาปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดเพิ่มเติมในประเด็นนี้
เหรินระบุว่า หากเป็นไปได้ หัวเว่ยยังคงชอบที่จะใช้ชิ้นส่วนของสหรัฐฯ เพราะบริษัทมี “ความสัมพันธ์ที่ดี ” กับซัพพลายเออร์ในสหรัฐฯ มายาวนาน
โดยเขาระบุว่า ในเดือนนี้เขาเปิดขายเทคโนโลยี 5G ของบริษัท ทั้งสิทธิบัตร , โค้ด, พิมพ์เขียว และรายละเอียดการสร้าง ให้กับบริษัทตะวันตกด้วยการชำระเงินแบบจ่ายครั้งเดียว
เมื่อวันที่ 26 ก.ย. เขาระบุเพิ่มเติมว่า หัวเว่ยมีความตั้งใจที่จะขายเทคโนโลยี 5G ให้บริษัทสหรัฐฯ และเขาไม่กลัวว่าจะเป็นการสร้างศัตรูด้วยการให้เทคโนโลยีหัวเว่ยกับคู่แข่งขัน โดยข้อเสนอนี้ยังรวมเทคโนโลยีในการออกแบบชิปด้วย
ทั้งนี้ หัวเว่ย ซึ่งยังคงเป็นผู้ขายแบรนด์สมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ระบุว่า คำสั่งแบนของสหรัฐฯอาจทำให้รายได้จากสมาร์ทโฟนตกต่ำลงประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( 307,800 ล้านบาท ) ในปีนี้.