“สมคิด”ยิ้มแก้มปริจีดีพีไตรมาสแรกโต3.2%
“สมคิด” หายเหนื่อย มั่นใจเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้น หลังสภาพัฒน์แถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาแรกขยายตัว 3.2% จากเดิมปีที่แล้วทั้งปี จีดีพีขยายตัว 2.8%มั่นใจเศรษฐกิจตลอดทั้งปีนี้ ขยายตัวเกิน 3% อย่างแน่นอน
“จีดีพีไตรมาสแรกของปีนี้ ที่สภาพัฒน์ประกาศขยายตัว 3.2% ถือเป็นข่าวดี และจะเป็นจุดพลิกผันสำคัญด้านความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยเริ่มพลิกฟื้นแล้ว” นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล หลังจากการประชุมครม.เมื่อวันที่ 16 พ.ค.เสร็จสิ้น และกล่าวว่า
หากจีดีพี ไตรมาสแรกออกมาดีก็คาดว่า แนวโน้มตลอดทั้งปีนี้น่าจะฟื้นตัว โดยลำดับเนื่องจากจะมีเม็ดเงินลงทุนจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ การท่องเที่ยวก็ขยายตัวแรงและแนวโน้มการลงทุนจากต่างประเทศที่ขยายตัว แต่ยังต้องเฝ้าติดตามการส่งออกอย่างใกล้ชิด เพราะเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว
นายสมคิด กล่าวว่า จีดีพี ที่ขยายตัว 3.2% จะเป็นแรงส่งที่สำคัญคือการใช้จ่ายของรัฐ โดยเฉพาะโครงการประชารัฐที่เน้นการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากที่เริ่มถึงมือประชาชน ซึ่งผมรู้สึกพอใจเป็นอย่างมาก ขณะที่ประเทศอื่นส่วนใหญ่เศรษฐกิจปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญกว่า คือการปฏิรูปที่จะต้องมีความต่อเนื่องเพื่อให้การเติบโตนั้นมีความยั่งยืน
ในช่วงเช้าเมื่อเวลา 09.30 น. ของวันที่ 16 พ.ค.นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแหล่งชาติ (สศช.)หรือ สภาพัฒน์ แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาแรกว่ามีอัตราการขยายตัวที่ 3.2% ซึ่งเป็นอัตราที่เร่งตัวขึ้นจาก 2.8% ในปี 58 และ สภาพัฒร์ยังได้ปรับกรอบช่วงคาดการณ์ใหม่อยู่ที่ 3.0-3.5% จากเดิมที่ 2.8-3.8% เนื่องจากมั่นใจว่า เศรษฐกิจในปีนี้คงมีโอกาสจะขยายตัวในระดับต่ำสุดและสูงสุดตามกรอบคาดการณ์เดิมลดลง
“รอบที่แล้วที่เราแถลงช่วงต้นปี เป็นการแถลงท่ามกลางความผันผวนและความเสี่ยงหลายอย่าง กรอบ GDP เลยกว้างอยู่ที่ 2.8-3.8% แต่ช่วงนี้หลังจากเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจไตรมาสแรก เราจึงสามารถประมาณการด้วยความมั่นใจในช่วงที่แคบลงมาที่ 3.0-3.5% และมีโอกาสที่ไตรมาสอื่น ๆ ที่เหลือของปีนี้ GDP อาจจะสูงกว่าไตรมาสแรก”
ทั้งนี้ สภาพัฒน์ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกขยายตัว 3.2% ใกล้เคียงกับค่ากลาง 3.3% ของช่วงประมาณการการขยายตัวทั้งปีของเดิมที่ 2.8-3.8% ประกอบกับโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเกิน 3.5% ลดลงเพราะข้อจำกัดของเศรษฐกิจโลกต่อภาคการส่งออกที่มีความชัดเจนมากขึ้น ขณะเดียวกันโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำกว่า 3.0% ก็มีน้อยมากเพราะไตรมาสแรกขยายตัวเกิน 3.0%
ประกอบกับ ยังมีปัจจัยบวกมาสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งรวมถึงแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคเกษตรในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งคาดว่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการสิ้นสุดลงของปรากฏการณ์เอลนิโญ่ ดังนั้น สศช. จึงปรับช่วงการประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้แคบลงจากการขยายตัว 2.8-3.8% เป็น 3.0-3.5% โดยมีค่ากลางการประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 3.3 เท่ากับการประมาณการครั้งที่ผ่านมา
“ปรับประมาณการมาอยู่ช่วง 2.8-3.8% เมื่อไตรมาสแรกขยายตัวได้ 3.2% ก็ทำให้เรามั่นใจขึ้น เศรษฐกิจโลกคลายตัวไปจากที่เป็นห่วงในช่วงต้นปี แต่ส่งออกปีนี้ปรับเป็นติดลบ 1.7% เพราะไตรมาสแรกเป็นลบอยู่ แต่ค่าเงินบาทยังไม่ห่วง ยังเป็นบวกต่อการส่งออก สนับสนุนสภาพคล่องต่าง ๆ ในประเทศได้”
ปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวต่อเนื่องจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัว แรงขับเคลื่อนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ได้จัดทำเพิ่มเติมในเดือน ก.ย.58-มี.ค.59 จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง ราคาน้ำมันที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำ และ แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคเกษตรในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะลดลง 1.7% การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัว 2.3% และ 4.2% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วง 0.1-0.6% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 9.4% ของ GDP
นอกจากนี้ สภาพัฒน์ ยังระบุว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรก โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ แรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมการขยายตัวในเกณฑ์สูงของจำนวนนักท่องเที่ยว รวมทั้งราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำและแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงครึ่งหลังของปี
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภาคเอกชนและเศรษฐกิจในภาพรวมยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ การลดลงของราคาสินค้าในตลาดโลก รวมทั้งค่าเงินบาทที่ยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนและแข็งค่าและสถาบันการเงินยังมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง
ด้านเศรษฐกิจโลกในปี 59 มีแนวโน้มขยายตัวประมาณ 3.2% ปรับตัวดีขึ้นช้าๆ จากการขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ 3.0% ในปี 58 และเป็นการปรับลดการคาดการณ์จาก 3.3% ในการประมาณการครั้งก่อนเนื่องจากเศรษฐกิจโลกในไตรมาสแรกยังชะลอตัวจากไตรมาสสุดท้ายของปี 58 และส่งผลให้การฟื้นตัวล่าช้าออกไป สถานการณ์เศรษฐกิจสำคัญๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศสำคัญ ๆ ในเอเชียขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์และในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างล่าช้า
“ปัจจัยสำคัญที่เป็นข้อจำกัดในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือ เศรษฐกิจโลก แต่ว่าตอนนี้ความเสี่ยงก็ลดลงมาก แต่ถึงอย่างไรก็ดี การเติบโตยังช้า คงต้องตามดูกันต่อไป เพราะจะมีความเชื่อมโยงไปถึงราคาสินค้าเกษตรด้วย” เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าว และกล่าวว่า
ทั้งนี้ สภาพัฒน์ได้ตั้งสมมติฐานอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 59 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 35.5-36.5 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากเฉลี่ย 34.29 บาท/ดอลลาร์ ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ในช่วง 35-45 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มจากสมมติฐานเดิมที่ 32-42 ดอลลาร์/บาร์เรล จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 33.0 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10.4% จากปี 58 และปรับเพิ่มจากประมาณการครั้งก่อน ในขณะที่รายรับการท่องเที่ยวคาดไว้ที่ 1.69 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.6% จาก 1.52 ล้านล้านบาท การเบิกจ่ายงบประมาณคาดว่าอัตราเบิกจ่ายปีประมาณ 2559 อยู่ที่ 92.9% ของวงเงินงบประมาณการส่งออกของไทยในปีนี้ที่ล่าสุด สภาพัฒน์ปรับลดลงมาอยู่ที่ -1.7% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 1.2% นั้น เนื่องจากมีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงเล็กน้อยจากเดิม 3.3% มาเป็น 3.2% และปรับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบใหม่.