คาด BOJ คงนโยบายการผ่อนคลายหนุนเศรษฐกิจยุ่น
อีไอซี ไทยพาณิชย์ คาด BOJ คงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป หวังหนุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นโตในปีนี้และปีหน้า แม้มีการขยับปรับนโยบายการเงินในรอบเกือบ 2 ปี เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นต่อนโยบายก็ตาม
จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน เมื่อวันที่ 30-31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.1% แต่ได้ปรับแนวการดำเนินนโยบายการเงินให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี โดยขยายกรอบการเคลื่อนไหวอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีปัจจุบันที่ตรึงไว้ระดับ 0% ตามนโยบายการควบคุมเส้นผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มใช้ครั้งแรกเดือนกันยายนปี 2016ให้เคลื่อนไหวได้ในกรอบที่กว้างขึ้น พร้อมปรับสัดส่วนการเข้าซื้อกองทุนเปิดที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น
นอกจากนี้ BOJ ยังประกาศสัญญาณชี้นำล่วงหน้า ว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำต่อไปในระยะข้างหน้าเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และรองรับผลกระทบในอนาคตซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการปรับขึ้นภาษีการบริโภคในเดือนตุลาคม ปี 2019
ทั้งนี้ BOJ ได้ปรับแนวทางการดำเนินโยบายการเงินเล็กน้อยใน 2 ประเด็นหลัก ซึ่งเป็นการสร้างความยืดหยุ่นต่อการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายในปัจจุบัน ได้แก่
1. ขยายกรอบการเคลื่อนไหวอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ให้สามารถเคลื่อนไหวได้กว้างขึ้น จากเดิมในช่วงราว -0.1% ถึง 0.1% (±10 bps จากระดับ 0%) มาเป็นราว -0.2% ถึง 0.2% (±20 bps จากระดับ 0%) เพื่อให้การเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นของ BOJ มีความยืดหยุ่นมากขึ้นและสอดรับสถานการณ์ในตลาดการเงินโลกที่อัตราดอกเบี้ยในกลุ่มประเทศหลักเริ่มเข้าสู่ช่วงขาขึ้นตามวัฏจักรเศรษฐกิจโลก โดยยังคงวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเท่าเดิมที่ 80 ล้านล้านเยนต่อปี ซึ่งมีนัยต่ออัตราดอกเบี้ยพันธบัตรญี่ปุ่นอายุ 10 ปีและมากกว่าที่จะสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้อีกจากปัจจุบัน (รูปที่ 1) และเป็นการเพิ่มความชัน (slope) ให้แก่เส้นอัตราผลตอบแทนในส่วนอัตราดอกเบี้ยระยะยาวเพื่อลดผลกระทบต่อภาคการเงินของญี่ปุ่นจากภาวะดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน โดยเฉพาะต่อธุรกิจภาคธนาคาร ประกันชีวิต และกองทุนบำเหน็จบำนาญ
2.ปรับสัดส่วนการเข้าซื้อ ETF โดยจะเข้าซื้อกองทุนหุ้นที่เกี่ยวข้องกับดัชนี TOPIX (Tokyo Stock Price Index)มากขึ้นและลดการเข้าซื้อกองทุนหุ้นที่เกี่ยวข้องกับดัชนี Nikkei 225 โดยยังคงวงเงินการเข้าซื้อ ETF รวมไว้เท่าเดิมที่ 6 ล้านล้านเยนต่อปี (รูปที่ 2) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการเข้าซื้อ ETF นี้มีนัยว่า BOJ ต้องการทยอยลดการบิดเบือนกลไกตลาดทางอ้อม เนื่องจากในดัชนี Nikkei 225 มีสัดส่วนหุ้นขนาดใหญ่ที่มีสภาพคล่องน้อยกว่าเมื่อเทียบกับหุ้นในดัชนี TOPIX ซึ่งหุ้นขนาดใหญ่ในภาพรวมมี free float สูงกว่า ซึ่งจะทำให้เกิดการบิดเบือนราคาหลักทรัพย์ในดัชนี Nikkei 225 ในระยะยาวได้หาก BOJ ไม่เริ่มปรับสัดส่วนการเข้าซื้อ ETF ในปัจจุบัน
อีกทั้ง BOJ ยังปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปีงบประมาณ 2018 จาก 1.3% เป็น 1.1% สำหรับปี 2019 จาก 1.8% เป็น 1.5% และสำหรับปีงบประมาณ 2020จาก 1.8% เป็น 1.6% ซึ่งยังต่ำกว่าระดับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 2% เป็นการส่งสัญญาณว่า BOJ จะยังต้องคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในภาพรวมต่อไป แม้จะเริ่มมีการปรับ YCC ให้ดอกเบี้ยระยะยาวสามารถปรับเพิ่มสูงขึ้นได้และเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นต่อการดำเนินนโยบาย YCC ในระยะข้างหน้าที่ดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวของโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น เนื่องจากตลาดการเงินเริ่มคาดการณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินญี่ปุ่นซึ่งใช้มาตรการผ่อนคลายมาอย่างยาวนาน
แต่ในขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นกลับไม่ฟื้นตัวตามคาด โดยในเดือนมิถุนายน 2018 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ที่ระดับ 0.8%YOY นอกจากนี้ ในการประชุมเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา BOJ มีมติยกเลิกกรอบเวลาบรรลุอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายภายในปีงบประมาณ 2019 เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงฟื้นตัวช้ากว่าคาดจากค่าจ้างแรงงานที่ขยับขึ้นช้าจากปัญหาโครงสร้างตลาดแรงงานญี่ปุ่นและการขึ้นค่าแรงของบริษัทญี่ปุ่นที่ปรับขึ้นน้อย
ทั้งนี้ ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ หลัง BOJ ส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำต่อไปในระยะข้างหน้า ณ วันที่ 31 กรกฎาคมหลัง BOJ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เงินเยนอ่อนค่าลง 0.7% เทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แตะที่ระดับ 111.86 เยน ในขณะที่ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ลดลงต่ำสุดสู่ระดับที่0.05% โดยฟื้นตัวขึ้นแตะระดับ 0.11% ในช่วงเช้าวันที่ 1 สิงหาคม ทำให้โดยรวมการตอบสนองต่อตลาดพันธบัตรค่อนข้างน้อย
ในอีกแง่หนึ่ง การคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของญี่ปุ่นนั้นสวนทางกับการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ซึ่งเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปีนี้ ทำให้ส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ และญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เงินเยนมีทิศทางอ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ตามค่าเงินภูมิภาคเอเชียในปีนี้หากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังแข็งค่าต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เงินเยนอาจกลับมาแข็งค่าชั่วคราวได้จากการเป็นสถานะสกุลเงินปลอดภัย (safe haven) ในภาวะตลาดปิดรับความเสี่ยง (risk off)
ดังนั้น การเพิ่มความยืดหยุ่นของนโยบายการเงินนับเป็นทางออกของ BOJ ต่อภาวะดอกเบี้ยโลกขาขึ้นและรองรับความไม่แน่นอนจากการปรับขึ้นภาษีการบริโภคในปี 2019 ซึ่งเป็นการขยายกรอบดอกเบี้ยระยะยาวพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นให้เคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาดให้ปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้มากกว่าเดิมเล็กน้อย ทั้งยังสร้าง policy spaceสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับ BOJ ผ่านการเข้าซื้อสินทรัพย์ในอนาคต ด้านการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการเข้าซื้อETF ของ BOJ มีเหตุผลเพื่อลดผลการแทรกแซงของ BOJ ต่อราคาหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นในช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มฟื้น นอกจากนี้ การไม่กำหนดกรอบเวลาในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและการคงวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์เท่าเดิมเป็นการยืนยันท่าทีของ BOJ ในการผลักดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้นจากการกระตุ้นสภาพคล่องผ่านการเข้าซื้อสินทรัพย์หากเงินเฟ้อพื้นฐานพลิกกลับมาหดตัวหลังการขึ้นภาษีการบริโภคจาก 8% เป็น 10% ในเดือนตุลาคมปี 2019
อย่างไรก็ตาม อีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดว่า BOJ จะยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีนี้และปีหน้า เนื่องจากภาวะการเงินที่ผ่อนคลายและดอกเบี้ยที่ต่ำยังมีส่วนช่วยสนับสนุนการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อและเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่น สำหรับปี 2019 อีไอซีมองว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวได้ด้วยแรงสนับสนุนจากการบริโภคภาคครัวเรือนและการลงทุนในประเทศ รวมถึงภาคการค้าที่จะได้ผลบวกจากข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับสหภาพยุโรป (Japan-EU Economic Partnership Agreement) ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในช่วงเดือนมีนาคมปี 2019 โดยญี่ปุ่นจะได้ประโยชน์จากการลดภาษีสินค้าเกือบทั้งหมดที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งจะส่งอานิสงส์ทำให้การค้าระหว่างประเทศของผู้ประกอบการไทยที่มีการส่งออกไปญี่ปุ่นได้ผลดีในทางอ้อม หากเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังสามารถเติบโตได้ดีและมีความต้องการนำเข้าสูง.