รู้ไว้ “6 ทำได้- 8 ทำไม่ได้” ในประชามติ
ที่สุดแล้ว “ประกาศ กกต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ” ที่จะบังคับใช้ไปจนถึงวันที่ 7 ส.ค.นั้นได้ฤกษ์ออกมาแล้ว โดยแบ่งเป็น “6 สิ่งทำได้ และ 8 สิ่งที่ทำไม่ได้”
มาถึงขั้นนี้แล้ว ต้องเผยแพร่สิ่งที่กกต.อนุญาต-ไม่อนุญาตให้อ่านกันชัดๆเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันอีกครั้ง เริ่มจาก 6สิ่งที่ประชาชนทำได้ คือ
- ศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นเพิ่มเติมให้เข้าใจอย่างครบถ้วน จากเว็บไซต์หรือสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการแสดงความคิดเห็นของตน
- แสดงความเห็นโดยใช้ถ้อยคำที่สุภาพ
- แสดงความเห็นด้วยข้อมูลที่มีความชัดเจนไม่กำกวม อันอาจทำให้บุคคลอื่นเห็นว่าเป็นการบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง
- การนำเสนอหรืออ้างอิงงานวิจัยตามหลักวิชาการ เพื่อประกอบการแสดงความคิดเห็นให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงบุคคลนั้น ควรตรวจสอบความถูกต้องและแสดงที่มาของงานวิจัยนั้นด้วย
- การสัมภาษณ์ผ่านสื่อเพื่อแสดงความคิดเห็นพร้อมเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งของตน
- การนำเข้าข้อมูลเกี่ยวกับความคิดเห็นพร้อมแสดงเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งของตน ในเว็บไซต์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือการส่งต่อข้อมูลดังกล่าว โดยไม่มีการแสดงความเห็นเพิ่มเติม
ส่วน 8 สิ่งที่ประชาชนทำไม่ได้ ประกอบด้วย
- การสัมภาษณ์ผ่านสื่อด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือมีลักษณะก้าวร้าวรุนแรงหยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่
- การนำเข้าข้อมูล (โพสต์) อันเป็นเท็จหรือมีลักษณะก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ปลุกระดมหรือข่มขู่ในเว็บไซต์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือส่งต่อข้อมูล (แชร์) ในลักษณะดังกล่าว
- การทำหรือส่งสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายอันมีลักษณะก้าวร้าวรุนแรงหยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่
- การจัดเวทีสัมมนา อภิปราย โดยกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ไม่มีหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา องค์กรสื่อมวลชน ตามกฎหมายเข้าร่วม และมีเจตนาเพื่อปลุกระดมทางการเมือง
- การชักชวนให้ใส่เสื้อ หรือติดป้าย เข็มกลัด ธง ริบบิ้น หรือเครื่องหมายที่แสดงสัญลักษณ์ความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือการขายการแจกจ่ายสิ่งของดังกล่าว ในลักษณะรณรงค์ทั่วไปเพื่อนำไปสู่การปลุกระดมทางการเมือง
- การใช้เอกสารใบปลิวหรือแผ่นพับ ที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือมีลักษณะก้าวร้าวรุนแรงหยาบคายหรือปลุกระดมทางการเมือง
- การรายงานข่าวหรือการจัดรายการของสื่อมวลชนที่นำไปสู่การปลุกระดมหรือสร้างความวุ่นวายในสังคม
- การรณรงค์เพื่อให้เกิดการคล้อยตามของคนในสังคม เพื่อให้ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง มีลักษณะการปลุกระดมหรือขัดขวางการออกเสียง
เมื่อประกาศของกกต.ออกมาอย่างเป็นทางการ และมีสถานะเป็นกฎหมายชัดเจนแบบนี้แล้ว รับรองเลยว่า ไม่ช้าก็เร็ว จะมีการ “เชือดไก่ให้ลิง” ดูเป็นระยะ เพราะมีคนที่รอ “ลองของ” อยู่ไม่ใช่น้อยกับ 8 อย่างที่ทำไม่ได้ และอย่าลืมว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์และประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้ควบคู่ไปด้วยในช่วงนี้นั้น คสช.อนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดอีกด้วย ขั้วตรงข้ามที่กระทำตัวเสมือนหินลองทองในช่วงนี้ รับรองเลยว่า จะเจอข้อหาหนักๆเน้นๆไปแบบไม่มีอัตราส่วนลด
เพราะอย่าลืมโนเมื่อปี2550ที่ฝ่ายต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญคือพรรคพลังประชาชน ออกมา ปะ-ฉะ-ดะ ผ่านหน้าสื่อกับหลายภาคส่วนรัฐบาลที่ให้ “รับไปก่อนแก้ทีหลัง” เพราะวันนั้น22 สิงหาคม 2550 ทันทีที่ปิดหีบลงคะแนนปรากฏว่า ผลเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มีทั้งสิ้น 14,727,306 เสียง คิดเป็นร้อยละ 57.81 ชนะเสียงไม่เห็นชอบ ที่ 10,747,441 เสียง คิดเป็นร้อยละ42.19
เมื่อประวัติศาสตร์เคยมีผลออกมาเป็นแบบนี้ วิธีการที่ขันน็อตอุดรูรั่วทั้งหมดเพื่อให้ทุกอย่างเดินไปตามโรดแมปของคสช.เพื่อยุติความขัดแย้งในวันนี้-อนาคตต้องงัดมาใช้ทุกวิถีทาง