เศรษฐกิจยูโรโซนโตสุดในรอบ 6 ปี
การเติบโตของกิจกรรมธุรกิจในยูโรโซนในเดือนก.พ.พุ่งสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 6 ปี อ้างอิง จากผลสำรวจล่าสุดในภาคส่วนบริการและการผลิตจากการจัดทำของ IHS Markit
โดยผลสำรวจชี้ให้เห็นถึงเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวของฝรั่งเศสและเยอรมนี ถึงแม้จะมีความผันผวนทางการเมืองในทั้งสองประเทศจากการเลือกตั้งในปีนี้
ทาง Markit รายงานว่า ดัชนีของกิจกรรมภาคบริการและการผลิตโดยรวมของยูโรโซนพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 56.0 จุดในเดือนก.พ. ปรับเพิ่มขึ้นจาก 54.4 จุดในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นคะแนนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. ปี 2554 โดยดัชนีสูงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้อยู่ที่ 54.3 จุด จากโพลล์สำรวจของนักวิเคราะห์จากรอยเตอร์
ทั้งนี้ คะแนนที่สูงเกิน 50 จุด ถือเป็นการขยายตัวที่แยกจากการหดตัวที่เห็นได้ชัด
ฝรั่งเศสรายงานว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้ออยู่ที่ 56.2 จุดในเดือนก.พ. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้และตัวเลข 54.1 จุดในเดือนม.ค. ในขณะที่ตัวเลขในดัชนีของเยอรมนีเองก็พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 56.1 จุด ในเดือน ก.พ.
“ เศรษฐกิจยูโรโซนเข้าเกียร์เดินหน้าในเดือนก.พ.” คริส วิลเลียมสัน หัวหน้านักวิเคราะห์ฺธุรกิจที่ IHS Markit ชี้ใ้ห้เห็นในรายงานเมื่อวันที่ 21 ก.พ.
“ ธนาคารกลางยุโรปจะได้แรงหนุนจากสัญญาณการเติบโตที่แข็งแกร่งและการปรับตัวดีขึ้นของแรงกดดันด้านราคาต่อไป ถึงแม้จะยังมีความกังวลว่าการเลือกตั้งและเบร็กซิทอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางธุรกิจในปี 2560 นี้ มีแนวโน้มว่าจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายจนกว่าจถึงการเลือกตั้งในเยอรมนีในเดือนก.ย.ที่จะถึงนี้ ” นายวิลเลียมสัน เสริม
ทั้งเยอรมนีและฝรั่งเศสมีคำสั่งซื้อใหม่เพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. ปี 2554 เป็นต้นมา ซึ่งช่วยส่งเสริมการจ้างงานในแต่ละประเทศ โดยความแตกต่างที่สำคัญระหว่างเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศคือการเติบโตของเยอรมนีได้แรงหนุนจากภาคการผลิต ในขณะที่ภาคบริการเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของฝรั่งเศส
ขณะเดียวกัน ข้อมูลยังชี้ว่า การสร้างงานในยูโรโซนเพิ่มขึ้นสูงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบ 10 ปี และปัจจัยบวกทางธุรกิจก็พุ่งขึ้นสูง เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ถึงแม้จะมีปัจจัยทางการเมืองคือการเลือกตั้งในปีนี้ก็ตาม อย่างไรก็ตาม แรงกดดันของเงินเฟ้อยังคงมีอย่างต่อเนื่องจากราคาที่สูงขึ้นทั้งในภาคบริการและการผลิต
“ ข่าวดีโดยรวมทำให้การเติบโตแข็งแกร่งกว่าตัวเลขคาดการณ์ 1% ในปี 2560 และธนาคารกลางยุโรปจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินอะไรมากนัก ” สตีเฟน บราวน์ นักเศรษฐศาสตร์ยุโรปที่ Capital Economics กล่าวในรายงาน