PPP เห็นชอบโครงการทางหลวงพิเศษ 2 เส้นทาง
PPP เห็นชอบโครงการทางหลวงพิเศษ 2 เส้นทาง มูลค่าลงทุนกว่า 1.4 แสนล้านบาท พร้อมเดินหน้าโครงการมาตรการ PPP Fast Track อีก 6 โครงการใหม่ มูลค่ากว่า 6 แสนล้านบาท
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผอ.สคร. กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ครั้งที่ 3/2560 ในวันพุธที่ 28 มิถุนายน 2560 ณ กระทรวงการคลัง โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ดังนี้
1. คณะกรรมการ PPP ได้เห็นชอบในหลักการการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการทางหลวงพิเศษสายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) มูลค่าเงินลงทุนรวม 85,970 ล้านบาท และสายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) มูลค่าเงินลงทุนรวม 56,567 ล้านบาท โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนออกแบบ ลงทุนในงานก่อสร้างงานระบบ และเป็นผู้ดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) และรัฐยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและรายได้ค่าธรรมเนียมผ่านทางทั้งหมด โดยมีระยะเวลาร่วมลงทุนไม่เกิน 30 ปี นับแต่เปิดให้บริการ ทั้งนี้ โครงการ M6 และ M81 เป็นโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track โดยคาดว่าจะประกาศเชิญชวนให้เอกชนยื่นข้อเสนอได้ภายในปี 2560 ทั้งนี้ การให้เอกชนร่วมลงทุน
ในโครงการ M6 (O&M) และ M81 (O&M) เป็นโครงการ PPP แรกของกรมทางหลวงในรอบกว่า 20 ปี ซึ่งจะช่วยลดภาระการลงทุนของภาครัฐและเกิดประโยชน์กับประชาชนในการเดินทางสู่ภูมิภาคต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย
2. คณะกรรมการ PPP ได้ติดตามความคืบหน้าของโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ใหม่ อีก 6 โครงการ ได้แก่
2.1 โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – วงแหวนกาญจนาภิเษก ประมาณการมูลค่าเงินลงทุน 128,235 ล้านบาท
2.2 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันตก และช่วงตะวันออก ประมาณการมูลค่าเงินลงทุน 220,618 ล้านบาท
2.3 โครงการรถไฟฟ้าสายภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ตฯ – ห้าแยกฉลอง ประมาณการมูลค่าเงินลงทุน 31,055 ล้านบาท
2.4 โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณการมูลค่าเงินลงทุนอยู่ระหว่างทำการศึกษา
2.5 โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม – ชะอำ ประมาณการมูลค่าเงินลงทุน 80,600 ล้านบาท
2.6 โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ – ระยอง ประมาณการมูลค่าเงินลงทุน 152,448 ล้านบาท
โดยมีมูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 613,000 ล้านบาท (ไม่รวมโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของจังหวัดเชียงใหม่) ทั้งนี้ คณะกรรมการ PPP ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมปรับปรุงแผนให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินการจริง และให้พิจารณาเพิ่มเติมโครงการท่าอากาศยานในส่วนภูมิภาคหากมีความพร้อม
3. คณะกรรมการ PPP ได้เห็นชอบกรอบแนวทางการรับฟังความคิดเห็นในการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2558 – 2562 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 โดยได้เพิ่มกิจการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ฯ จำนวน 3 กิจการ ได้แก่ กิจการพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งสินค้าทางราง กิจการพัฒนาท่าอากาศยาน และกิจการพัฒนาท่าเรือขนส่งผู้โดยสาร
4. คณะกรรมการ PPP ได้เห็นชอบให้โครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในสิทธิการเช่าอาคารศูนย์ประชุมและโรงแรม ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ที่บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด เสนอ มูลค่าโครงการประมาณ 1,300 ล้านบาท ถือเป็นโครงการขนาดกลาง โดยให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการของประกาศคณะกรรมการ PPP เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการที่มีวงเงินมูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดในมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 พ.ศ. 2559 ตามที่อนุกรรมการกลั่นกรองโครงการเสนอ
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กองส่งเสริมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ