ภัยแล้งถล่มชาวนาไทย
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากภัยแล้งถึง 1 แสนล้านบาท ส่งผลให้หนี้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น 12.1%
“เราได้ประเมินปัญหาภัยแล้งในปีนี้ คาดว่า จะมีความรุ่นแรงมาก โดยประเมินปัญหาภัยแล้ง จะส่งผลให้กระทบต่อเศรษฐกิจไทยเอาไว้ 3 กรณี” นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัยและผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงข่าวเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ได้แบ่งกลุ่มผลกระทบไว้ 3 กรณี โดยหากปัญหาภัยแล้งสามารถสิ้นสุดในช่วงเดือน เม.ย.59 และปริมาณผลผลิตไม่เสียหายมากนอกจากนี้รัฐบาลยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้ามาช่วยได้ทันเวลาเชื่อว่าจะส่งผลกระทบเกษตรกร 48,588.42 ล้านบาท และส่งผลกระทบจากภาคธุรกิจทางตรงและทางอ้อม 12,870.64 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 61,459.06 ล้านบาท และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ปีนี้ 0.44%
ส่วนกรณีที่ 2 หากสถานการณ์ภัยแล้งสิ้นสุดไม่เกินเดือน มิ.ย.นี้ จะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร 77,861.63 ล้านบาท และผลกระทบจากภาคธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม 41,416.74 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 119,278.37 ล้านบาท หรือกระทบต่อจีดีพี 0.85% ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นไปได้มากที่สุด ส่วนกรณีที่ 3 หากสถานการณ์ภัยแล้งมีระยะยาวถึงเดือนต.ค.59 ผลกระทบจากภาคเกษตรจะมีทั้งสิ้น 91,106.48 ล้านบาท ผลกระทบจากทางตรงและทางอ้อม 62,653.21 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 153,759.69 ล้านบาท หรือกระทบต่อจีดีพี 1.10%
นอกจากนี้ จากการสำรวจตัวอย่างเกษตรกร 1,200 ตัวอย่างทั่วประเทศ โดยสำรวจเมื่อวันที่ 7-16 มี.ค.59 พบว่า หากสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงจะส่งผลให้หนี้ครัวเรือนของภาคเกษตรปรับเพิ่มขึ้นในปีนี้อยู่ที่ 167,452.09 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12.1% จากปีที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นหนี้ในระบบ 57.7% และหนี้นอกระบบ 42.3% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่อยู่ที่ 149,322.69 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ในระบบ 58.2% และหนี้นอกระบบ 41.8%
ขณะเดียวกันจากการสำรวจยังพบว่า ปัญหาภัยแล้งกระทบต่อต้นทุนการผลิต 98.6% ปริมาณผลผลิต 3.7% ต้นทุนการหาแหล่งน้ำ 90.1% รายได้จากการทำการเกษตร 4.8% หนี้สินของครัวเรือน 69.1% และการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำ วัน 44.6%
อย่างไรก็ตาม เกษตรการที่ทำการสำรวจยืนยันว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้ส่งผลให้มีการปรับตัวโดยหันไปทำการค้า ขายเพิ่มขึ้นถึง 26% เปลี่ยนชนิดพืชในการเพาะปลูก 25.1% ไปรับจ้างรายวัน 11.9% และทำการขุดบ่อกักเก็บน้ำ 11.9% เป็นต้น ทั้งนี้ จากการสำรวจเกษตรยังพบว่า เกษตรกรตัวอย่างไม่สามารถแบกรับภาระหรือรับมือได้เลยถึง 21.4% และแบกรับได้น้อยมาก 25.2% และแบกรับได้น้อย 33.9% ส่วนแบกรับภาระได้ปานกลาง 14% แบกรับได้มาก 5.3% และแบกรับภาระได้มากที่สุด 0.1%
โดยปัญหาของเกษตรที่รัฐบาลควรดำเนินการแก้ไขมากที่สุด คือ แหล่งน้ำ 19.8% ระดับราคาสินค้าเกษตร 17.4% สร้างได้เกษตรกรให้มั่นคง 17.1% เป็นต้น
ขณะที่การสำรวจผู้ประกอบการจำนวน 400 ตัวอย่าง พบว่า หากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในอีก 2-3เดือนข้างหน้าหากไม่ได้รับแก้ไขเชื่อว่าจะกระทบต่อยอดจำหน่าย 89.5% ต้นทุน 13.3% แหล่งวัตถุดิบ 31.9% เป็นต้น และพบว่าจะกระทบต่อความเสียหายทางธุรกิจในทางตรงขนาดเล็ก 0.94 ล้านบาท และธุรกิจขนาดกลาง 1.22 ล้านบาท และธุรกิจขนาดใหญ่ 1.67 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 1.12 ล้านบาท
สำหรับสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการหลังจากภาวะภัยแล้ง คือ การสร้างกลไก หรือแผนสำรองในการรับมือกับสถาน การณ์ภัยแล้ง การบริหารจัดการระบบเขื่อนการวางแผนการบริหารจัดการน้ำระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพ และการสร้างพื้นที่ป่าในการกักเก็บน้ำธรรมชาติเป็นต้น นอกจากนี้สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการช่วยเหลือธุรกิจที่ประสบปัญหาจากภัยธรรมชาติ คือ ยืดเวลาชำระหนี้เงินกู้ หรือ พักชำระหนี้ กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศ ดูแลเสถียรภาพของวัตถุดิบของประเทศ โดยเฉพาะทางด้านของสินค้าเกษตร การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ
ด้าน นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า “จากการติดตามของศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำรวจพบความเสีย หายจากสถานการณ์ภัยแล้งทั้งในและนอกเขตชลประทาน ครอบคลุมพื้นที่ 2.87 ล้านไร่ (ข้อมูล ณ 17 มี.ค.59) เกษตรกรได้รับผลกระทบ 272,743 ราย”
สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรกรณีพื้นที่ทำการเพาะปลูกมีพืชตายหรือเสียหายโดยสิ้นเชิงดังกล่าว กรณีแยกตามภูมิภาคพบว่า ภาคเหนือได้รับผลกระทบมากที่สุดมูลค่าความเสียหาย 6,955.91 ล้านบาท คิดเป็น 45% ของมูลค่าความเสียหายรวม รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมูลค่าความเสียหาย 6,240.80 ล้านบาทคิดเป็น 40% ของมูลค่าความเสียหายรวม
ดังนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีนโยบายให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตผ่านวิกฤตภัยแล้งไปได้ โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบภัยแล้ง ปี 2558/59 จำนวน 8 มาตรการ 45 โครงการ ซึ่งมีหลายหน่วยงาน ขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2558/59 ระดับชาติ (ศก.กช.) โดยมีงบประมาณรวมทั้งสิ้น 32,384.54 ล้านบาท เพื่อดำเนิน งานทั้ง 8 มาตรการช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ 18 มี.ค.59) มีผลการเบิกจ่ายงบประมาณแล้วจำนวน 11,272.21 ล้านบาทสามารถช่วยเหลือเกษตรกรในแต่ละกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 1.48 ล้านราย
ทั้งนี้ หากแยกเฉพาะมาตรการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ 601,775 รายจากกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ สนับสนุนปัจจัยการผลิตยกเว้นค่าเช่าที่ดิน ส.ป.ก.ชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้สหกรณ์ จ้างงานของกรมชลประทาน การช่วยเหลือของสหกรณ์ และอบรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบภัยแล้งปี 2558/59 และจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ได้รับอยู่ในขณะนี้อย่างไรก็ตามในแต่ละมาตรการยังคงมีกิจกรรมหรือโครงการที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณางบประมาณที่จะช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้งไปได้.