คลังแจก3หมื่นกระตุ้นท่องเที่ยว
“คลัง” มึน คนไทยแห่เที่ยวนอกรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ เล็งเสนอ ครม.กระตุ้นเที่ยวภายในประเทศ รับค่าลดหย่อน 15,000 บาท บวกเพิ่มอีก 15,000 บาท จากมาตรการเดิมรวมเป็น 30,000 บาท “อภิศักดิ์” ยันรัฐบาลไม่แจกเงินข้าราชการรายได้น้อย แต่จะแจกเงินคนยากจน
“ในเร็วๆ นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอให้ ครม.พิจารณามาตรกรกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ในช่วงเทศกาลสงกรานต์รวมระยะเวลา 8 วันตั้งแต่วันที่ 10-17 เม.ย.นี้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศและวันครอบครัว” นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยเมื่อวันที่ 18 เม.ย.59
รัฐบาลเป็นห่วงเรื่องคนไทยไปเที่ยวเมืองนอก เพราะทราบข่าวว่าไฟล์บินไปญี่ปุ่นถูกจองเต็มหมดแล้ว รมว.คลัง และกล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ กระทรวงการคลังจะกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศในช่วงวันหยุดยาว โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายการท่องเที่ยว เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหารและแพ็กเกจทัวร์สามารถนำมาหักค่าลดหย่อนส่วนบุคคลได้ในวงเงินคนละไม่เกิน 15,000 บาท
รมว.คลัง กล่าวว่า มาตรการกิน-เที่ยวในรอบนี้ แตกต่างจากโครงการช้อปช่วยชาติ 15,000 บาท ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ที่กำหนดให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการนี้ ต้องซื้อสินค้าและบริการ
สำหรับมาตรการสนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยวในภายในประเทศตามที่กระทรวงท่องเที่ยวฯ เสนอมาเมื่อปีที่แล้ว ขณะนี้ได้สิ้นสุดมาตรการตั้งแต่สิ้นปี 2558 โดยกรมสรรพากรได้เสนอกระทรวงการคลังต่ออายุมาตรการดังกล่าว ต่อไปอีก 2 ปี หรือสิ้นสุดในปี 2560 ซึ่งประกอบด้วยมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวสามารถนำค่าใช้จ่ายเช่น ค่าที่พักและแพ็กเกจทัวร์มาหักค่าลดหย่อนได้ 15,000 บาท 2.บริษัทนิติบุคคลสามารถนำค่าใช้จ่ายทางด้านการฝึกอบรมและศึกษาดูงานมาหักค่าใช้ได้จ่าย 2 เท่า แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้สุทธิ
และล่าสุดคือมาตรการที่ 3.เพิ่มค่าลดหย่อนทางด้านท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์อีก 15,000 บาท ดังนั้น เมื่อรวมมาตรการทางด้านท่องเที่ยวในรอบนี้เท่ากับว่าบุคคลธรรมดาสามารถนำค่าใช้จ่ายทางด้านท่องเที่ยวมาลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เด้ง หรือไม่เกินคนละ 30,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่า คนที่จะใช้สิทธิ์ประโยชน์จากภาษีดังกล่าวต้องขอใบกำกับภาษีจากร้านค้ามาเป็นเอกสารในการยื่นภาษีกับกรมสรรพากร
ส่วนเรื่องการแจกเงินให้แก่ข้าราชการชั้นผู้น้อย 1,000 บาทนั้น ผมไม่ได้มีแนวคิดแบบนั้นและไม่ใช่ประชานิยมอย่างแน่นอน แต่คือการแจกเงินที่สามารถนำไปต่อยอดกับระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ที่จะเริ่มนำล่องโครงการดังกล่าวภายในกลางปีนี้ โดยประชาชนที่ยากจนหรือคนที่เกษียณแล้วแต่ไม่มีรายได้จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล โดยจะต้องขึ้นทะเบียนกับธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐได้ทุกแห่ง เพื่อขอรับความช่วยเหลือเหมือนกับเงินช่วยเหลือคนชราและผู้พิการ
“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กระทรวงการคลังจะนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ในเร็วๆ นี้ ถือเป็นมาตรการระยะสั้นที่ออก มาเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งและช่วยให้เกิดการจ้างงานในต่างจังหวัด ซึ่งปัญหาภัยแล้งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจเพียง 0.15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ถือว่าน้อยมากๆ”
แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ประชาชนที่อยู่ในภาคการเกษตรของไทยมีมากถึง 40% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ 60-65 ล้านคน ทำให้ปัญหาภัยแล้งจึงมีผลกระทบการดำรงชีวิตของคนไทยจำนวนมาก เราจึงจำเป็นต้องเร่งบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนก่อนเป็นอันดับแรก เพราะการช่วยให้คนไทยกินดีอยู่ดีถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล
“จากนี้ไป จะมีมาตรการออกมาอย่างต่อเนื่อง ตามความจำเป็นและความเหมาะสม เนื่องจากการลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเช่น ถนนมอเตอร์เวย์ รถไฟฟ้าและรถไฟรางคู่ ที่กระทรวงคมนาคมคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาได้ประมาณ 1.7 ล้านล้านบาทนั้น ในปีนี้ จะคาดว่า จะจ่ายได้เพียง 60,000 ล้านบาท และปีหน้าอีก 100,000 ล้านบาท ทำให้ในช่วง 2-3 ปีนี้ ที่เรากำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปในทิศทาที่ดีขึ้น เพื่อผลักดันจีดีพีให้เติบโตได้ 4-5% จากในปีนี้ ที่คาดว่า จะเติบโตได้ 3% ต้องทำให้ระดับฐานรากสามารถอยู่รอดได้ก่อน”
ทางด้าน นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากการนำการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) และการประมูลด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (e-market) มาใช้ในปีงบประมาณ 2559 มูลค่ารวมกว่า 300,000 ล้านบาท ทำให้กระทรวงการคลังสามารถประหยัดเงินงบประมาณได้มากว่า 30,000 ล้านบาท จึงเป็นแหล่งที่มาของเงินเพิ่มเติมพิเศษที่กระทรวงการคลังจะใช้ในอัดฉีดและกระตุ้นเศรษฐกิจอีกรอบ.