พิษภัยแล้งทำคุณภาพข้าวไทยตก
ลุ้นข้าวไทยปีนี้ ส่งออกได้ 9 ล้านตัน เหตุทั่วโลกประสบปัญหาภัยแล้งเหมือนกันหมด แต่สถานการณ์ไม่สู้ดีนัก เพราะผลผลิตข้าวที่ออกมาใช้ช่วงนี้ ต่ำกว่ามาตรฐานเช่น ข้าวลีบ ข้าวหัก เหลือเกวียนละ 8 พันบาท น้อยกว่าปีที่แล้ว ขายได้เกวียนละ 8.5 พันบาท
“ภัยแล้งที่กำลังทวีความรุนแรงและกินพื้นที่หลายจังหวัด ทำให้ผลผลิตข้าวของชาวนาไทยมีคุณภาพไม่ดี เช่น ข้าวลีบ ข้าวไม่เต็ม หรือข้าวหัก ส่งผลราคาที่โรงสีข้าวรับซื้อลดลงเหลือตัน (เกวียน) ละ 8,000-8,200 บาท” นายมานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่มีผลต่อผลผลิตข้าวนาปรังของเกษตรกรอย่างรุนแรง
จากสภาพอากาศที่แปรปรวน และบางช่วงชลประทานไม่ส่งน้ำ ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกความชื้น 15% ที่โรงสีรับซื้อขณะนี้อยู่ลดลง 300-500 บาทต่อตัน ขณะที่ปริมาณข้าวที่ออกสู่ท้องตลาดก็มีปริมาณน้อยกว่าปีที่แล้ว แต่ราคาก็ยังไปได้อยู่ที่ตันละ 8,500 บาท
นอกจากนี้ ผู้ส่งออกยังประสบปัญหาการชะลอตัวของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ และบางครั้งเมื่อส่งสินค้าไปแล้วผู้นำเข้ายังชำระเงินล่าช้า เพราะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลก ส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องมาถึงผู้ประกอบการโรงสี แต่เราก็ยังรับซื้อตามปกติ ซึ่งหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นก็จำเป็นต้องชะลอการซื้อข้าวออกไปก่อน
“ตามทฤษฎีแล้ว ผลผลิตที่ลดลงน่าจะทำให้ข้าวมีราคาสูงขึ้น เพราะไม่ใช่ไทยเพียงประเทศเดียวที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แต่ปริมาณข้าวทั่วโลกที่ผลิตได้ในปีนี้ ก็น้อยลงด้วย แต่ราคาข้าวในตลาดโลกก็ไม่ขยับขึ้น แถมคุณภาพก็ไม่ดีอีกด้วย ก็ยิ่งทำให้ราคารับซื้อข้าวต้องเป็นไปตามเกณฑ์คุณภาพ”
สำหรับสิ่งที่ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยเหลือคือ การหาตลาดเพื่อการระบายข้าวใหม่ๆ และขอความร่วมมือผู้นำเข้าเพิ่มการนำเข้าร่วมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโรงสีเป็นผู้ส่งออกข้าว จะทำให้การค้าข้าวครบวงจรมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาสมาคมความร่วมมือซื้อข้าวจากชาวนามาโดยตลอด และให้ราคาตามคุณภาพ แต่มีความหนักใจ เพราะผู้นำเข้าลดการนำเข้าจากไทย และบ้างประเทศมีปัญหาชำระเงินให้กับผู้ส่งออกซึ่งในอนาคตอาจมีผลต่อสถานการณ์ข้าวไทยโดยรวม
ขณะที่ นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การส่งออกข้าวในช่วง 2 เดือนแรกของไทยชะลอตัว โดยในเดือนม.ค. ส่งออกไปได้ 1.2 ล้านตัน เพราะมีการเร่งส่งมอบข้าวที่ซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ต่อเนื่อง แต่ในเดือนก.พ. ปริมาณส่งออกลดลงเหลือ 700,000 ตัน เพราะการส่งมอบข้าวจีทูจีเริ่มหมด
ขณะที่ประเทศที่เคยนำเข้าข้าวไทยมากๆ อย่างฟิลิปปินส์ ยังไม่เริ่มนำเข้า ทั้งๆ ที่ผลิตข้าวไม่พอกับการบริโภค คาดว่า สถานการณ์การค้าข้าวโลกจะซบเซาต่อจน ถึงไตรมาส 2 แต่จะเริ่มดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะส่งออกได้เดือนละ 800,000-900,000 ตัน เพราะสต็อกข้าวในแต่ละประเทศเริ่มลดลง
ตอนนี้ เรากำลังติดตามสถานการณ์การผลิตข้าวของโลก เพราะอินเดียก็ประสบภัยแล้งเช่นเดียวกัน ซึ่งหากขาหยุดส่งออกข้าวก็น่าจะส่งผลดีต่อข้าวไทย แต่เท่าที่ประเมินตอนนี้ อินเดียน่าจะส่งออกได้ปีนี้ได้ประมาณ 8-8.5 ล้านตัน
ขณะที่จีนจะต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเพื่อให้เพียงพอกับการบริโภคของประชากร 1,800 คน ซึ่งคาดว่าปริมาณสูงสุดไม่น่าเกิน 5 ล้านตัน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของข้าวไทยอีกครั้ง โดยคาดว่า ตลอดทั้งปี ไทยจะส่งออกได้ 9 ล้านตัน ขณะที่เป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์อยู่ที่ 9.5 ล้านตัน
ทั้งนี้ ราคาข้าวในประเทศความชื้น 5% อยู่ที่ตันละ 12,000 บาท ราคาส่งออก ณ ท่าเรือ (เอฟโอบี) ตันละ 370 ดอลลาร์สหรัฐฯ ใกล้เคียงอินเดีย และเวียดนามที่เฉลี่ยตันละ 360 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนปากีสถานส่งออกในราคาตันละ 335 ดอลาร์สหรัฐฯ.