กรมศุลฯยัน 3 ด.เข็นกติกาหนุน EEC
กรมศุลฯ เร่งคลอดระเบียบพิธีการศุลกากรรองรับอีคอมเมิร์ชในพื้นที่ EEC ยันกติกาใหม่ ใช้กับผู้ประกอบทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการล็อกสเปกให้รายใหญ่ เผยไม่เกิน 3 เดือนทุกอย่างจะแล้วเสร็จ มั่นใจ รายได้ไม่หด แถมจะมีส่วนงอกเพิ่มจากเศรษฐกิจขยายตัว หวังต่างชาติใช้ไทยเป็นฐานส่งขายสินค้าโอทอปและเอสเอ็มอีไปทั่วโลก
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร และโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากร ได้จัดทำระเบียบพิธีการศุลกากรสำหรับกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อีคอมเมิร์ช) ในเขตพื้นที่โครงการส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยไม่เลือกเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการรายหนึ่งรายใดเป็นการเฉพาะ แต่เป็นการอำนวยความให้กับผู้ประกอบการทุกรายที่อยู่ในพื้นที่ EEC อย่างเท่าเทียมกัน ด้วยเชื่อว่าการดำเนินการดังกล่าว จะมีส่วนช่วยดึงดูดความสนใจของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการใช้ไทยเป็นฐานส่งสินค้าไปขายในพื้นที่ต่างๆ ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทย
อีกทั้ง ระเบียบฯดังกล่าว ไม่เพียงจะไม่ทำให้รายได้ภาษีลดลง แต่ยังเพิ่มภาษีอื่นๆ ให้กับรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีนิติบุคคล อีกทั้งปริมาณการค้าที่เพิ่มขึ้นยังจะช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของไทยให้เกิดการหมุนเวียนและขยายตัวได้มากขึ้น
ทั้งนี้ การดำเนินการในเขตปลอดอากรสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ชจะมีการนำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการควบคุมทางศุลกากร เช่น การตรวจสอบสินค้าด้วยระบบเอกซเรย์บนสายพานร่วมกับระบบปัญญา ประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) การควบคุมขนส่งสินค้าด้วยระบบ e-Lock และการจัดเก็บข้อมูลของสินค้าด้วยระบบระบุตัวตนของสินค้า (QR Code) รวมถึงการจัดทำระบบบัญชีสินค้าคงคลังอิเล็กทรอนิกส์ (e-Inventory)
นอกจากนี้ ในส่วนของการยกเว้นภาษีอากรสำหรับของที่นำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ถือเป็นเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดและบังคับใช้อยู่แล้วในปัจจุบัน แต่ในส่วนของสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าเกินกว่า 1,500 บาท ยังคงจัดเก็บภาษีตามปกติ
ด้านนายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ผอ.สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กล่าวเสริมว่า การออกระเบียบฯภายในพื้นที่ EEC ยังอาจมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบต่างชาตินำสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าจากผู้ผลิตในกลุ่มเอสเอ็มอีและสินค้าโอทอปไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้อีกทางหนึ่ง เหมือนที่ครั้งหนึ่ง เคยมีการขายทุเรียนผ่านแพลตฟอร์มของผู้ประกอบการบางราย จนได้รับคำสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ กรมศุลกากร ยังอยากจะเห็นเหตุการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นกับสินค้าเกษตร หรือสินค้าในกลุ่มเอสเอ็มอีและโอทอปเกิดขึ้นอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ระเบียบฯดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงแก้ไข คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน อธิบดีกรมศุลกากรจึงจะลงนามและประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป ทั้งนี้ ระบบและเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้พื้นที่ EEC นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานของทุกฝ่ายแล้ว ยังช่วยลดขั้นตอนการตรวจสอบ โดยเฉพาะสินค้าที่ส่งผ่านเข้ามาในกระบวนการฯ ซึ่งจากข้อมูลพบว่าในปี 61 มีจำนวนสินค้าบรรจุกล่องมากถึง 12.9 ล้านกล่อง และช่วง 10 ด.ที่ผ่านมา (ต.ค.61 – 31 ก.ค.62) กลับพบว่ามีจำนวนมากถึง 21 ล้านกล่องไปแล้ว คาดว่ากว่าจะถึงสิ้นปี จะยอดสินค้าที่ผ่านกระบวนการดังกล่าว เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งในทางปฏิบัติ คงไม่สามารถใช้จะกำลังเจ้าหน้าที่มาดำเนินการตรวจสอบได้ จำเป็นจะต้องใช้กระบวนการตรวจสอบสินค้าด้วยระบบเอกซเรย์บนสายพาน ร่วมกับระบบ AI รวมถึงการใช้ระบบ e-Lock การระบุตัวตนของสินค้า และการจัดทำระบบบัญชีสินค้าคงคลังอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อมาช่วยในการตรวจสอบด้วย.