กรมศุลฯเชื่อยอดรายได้ทั้งปีเฉียด 1.1 แสนล.
กรมศุลฯ แจงรายได้ 10 ด. ยอดรวมเพิ่มขึ้นทุกตัว เผยเฉพาะ ก.ค.62 ที่จัดเก็บแทนหน่วยงานอื่นหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.3% มั่นใจรายได้ของกรมศุลฯทั้งปี ทะลุเป้า ทั้งยอดประมาณการและคาดการณ์ ที่ 1.08 – 1.09 แสนล้านบาท เหตุบริษัทยักษ์ใหญ่ยังคงนำเข้ารถยนต์นั่งและรถโดยสารเยอะ
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร แถลงผลการจัดเก็บรายได้ประจำเดือน ก.ค.62 ว่า สามารถจัดเก็บรายได้รวม 48,002 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 914 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.9 แยกเป็นรายได้ศุลกากร 9,378 ล้านบาท และรายได้ที่จัดเก็บแทนหน่วยงานอื่นอีก 38,624 ล้านบาท รายได้ที่ลดลงเป็นส่วนของรายได้ของหน่วยงานอื่น
โดยมีรายได้ศุลกากร 9,378 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,178 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.4 และสูงกว่าปีก่อน 808 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.4 เนื่องจากมูลค่านำเข้าชำระอากรขยายตัวร้อยละ 7.5 โดยจัดเก็บอากรเพิ่มขึ้นจากสินค้ารถยนต์นั่ง หอม/กระเทียม รถยนต์โดยสาร ส่วนประกอบยานยนต์ และเครื่องยนต์ดีเซล
สำหรับรายได้ที่จัดเก็บแทนหน่วยงานอื่น 38,624 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1,722 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.3 แยกเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 26,801 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน 1,251 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.5 เนื่องจากการจัดเก็บลดลงในประเภทสินค้าน้ำมันดิบ รถยนต์ขนส่งของ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และรถยนต์นั่ง
ภาษีสรรพสามิต จัดเก็บได้ 8,041 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน 302 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.6 เป็นการจัดเก็บลดลงในประเภทสินค้ารถยนต์ขนส่งของ รถยนต์นั่ง และบุหรี่ ขณะที่ ภาษีเพื่อมหาดไทย จัดเก็บได้ 3,782 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน 169 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.3
ส่วนการจัดเก็บรายได้ในช่วง 10 เดือนของปีงบประมาณ 62 (ต.ค.61 – ก.ค.62) กรมศุลกากรจัดเก็บรายได้รวม 499,646 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16,453 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.4 แยกเป็นรายได้ศุลกากร 91,109 ล้านบาท และรายได้ที่เก็บให้หน่วยงานอื่น 408,537 ล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้
การจัดเก็บรายได้ศุลกากร 91,109 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 7,909 ล้านบาท (ประมาณการ 83,200 ล้านบาท) หรือร้อยละ 9.5 และสูงกว่าปีก่อน 978 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.1 แยกเป็น อากรขาเข้า 89,383 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 8,253 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.2 อากรขาออก 177 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 92 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.1 ส่วนค่าธรรมเนียม จัดเก็บได้ 1,549 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 436 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.0
สำหรับรายได้ที่จัดเก็บให้หน่วยงานอื่น เก็บได้ 408,537 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 15,475 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.9 แยกเป็น ภาษีมูลค่าเพิ่ม 276,924 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 11,082 ล้านบาทหรือร้อยละ 4.2 ภาษีสรรพสามิต 91,676 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2,860 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.2 และภาษีเพื่อมหาดไทย 39,937 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 1,532 ล้านบาทหรือร้อยละ 4.0
นายชัยยุทธกล่าวว่า ช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 62 กรมศุลกากรยังคงดำเนินมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ เพื่ออุดรอยรั่วไหลในการจัดเก็บภาษีอากรอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปีงบประมาณนี้ จะสามารถจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ (100,000 ล้านบาท) และสูงกว่าคาดการณ์ของกระทรวงการคลัง (108,000 ล้านบาท) โดยเชื่อว่าการจัดเก็บรายได้ทั้งปี น่าจะอยู่ในระดับ 108,000 – 109,000 ล้านบาท แม้ว่าสถานการเศรษฐกิจโลก และภาคการส่งออกที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าการนำเข้าก็ตาม สำหรับประมาณการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากรในปี 63 จะอยู่ที่ 1.1 แสนล้านบาท
ด้านนายชัยฤทธิ์ แพทย์สนาม ผอ.กองตรวจสอบอาการ (กตอ.) กรมศุลกากร กล่าวเสริมว่า การจัดเก็บรายได้ในช่วงที่ผ่านมาถือว่า สูงกว่าทั้งประมาณฯและคาดการณ์ฯ เนื่องเพราะสินค้าหลักๆ โดยเฉพาะการจัดเก็บรายได้จากการนำเข้ารถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสาร ฯลฯ ยังคงเป็นรายได้หลักของกรมฯ ทั้งนี้ จากการสอบถามไปยังผู้นำเข้ารายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทโตโยต้า หรือผู้นำเข้ารายอื่นๆ ทุกคนต่างพูดในทำนองเดียวกันว่า ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ จะยังคงนำเข้าทั้งรถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารตามแผนการเดิมทุกประการ ซึ่งทำให้คาดการณ์ได้ว่าการจัดรายได้ทั้งปีของกรมศุลกากร ยังคงเป็นไปตามประมาณการหรืออาจจะสูงกว่าที่คาดการณ์เล็กน้อย.