สมอ.ชู 10 หน่วยงาน นำ มอก. 9999 ไปใช้
สมอ. ลงนามรับรองตนเองให้กับ 10 หน่วยงาน ที่นำ มอก. 9999 “แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม” ไปใช้ หวังให้เป็นหน่วยงานตัวอย่างในการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน พร้อมผลักดัน มอก. 9999 ก้าวสู่มาตรฐานระดับโลก
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปี 2556 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศกำหนดมาตรฐาน มอก. 9999 เล่ม ๑-๒๕๕๖ แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจของภาคอุตสาหกรรม ที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรและองค์กร ให้มีการบริหารจัดการ และการดำเนินงานที่ก่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน
ที่ผ่านมา สมอ. ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม หน่วยงานราชการ มูลนิธิ ฯลฯ นำมาตรฐาน มอก. 9999 ไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงาน โดยการจัดทำโครงการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแนะนำการจัดทำ มอก. 9999 (TLC มอก. 9999) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว จำนวน 55 ราย
เนื่องด้วยมาตรฐาน มอก. 9999 ไม่ใช่มาตรฐานเพื่อการรับรอง สมอ.จึงได้จัดทำโครงการทวนสอบประสิทธิผลและความสำเร็จของการนำ มอก. 9999 ไปประยุกต์ใช้ สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ TLC มอก. 9999 เพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) โดยในปีนี้มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 10 หน่วยงาน ได้แก่ บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด บริษัท น้ำตาลสระบุรี จำกัด บริษัท น้ำตาลสิงห์บุรี จำกัด บริษัท บ้านเซรามิคสุขภัณฑ์ จำกัด บริษัท ฟาร์มโพรเทคชั่น จำกัด บริษัท มาบตาพุดโอเลฟินส์ จำกัด บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด (มิตรภูหลวง) บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด (มิตรภูเขียว) และบริษัท เอซบีซี โพรดักซ์อินดัสตรี้ส์ จำกัด ซึ่งผลการทวนสอบฯ เป็นไปตามข้อกำหนด มอก. 9999
ดังนั้น สมอ. จึงจัดพิธีลงนามประกาศรับรองตนเองว่าได้นำมาตรฐาน มอก.9999 ไปใช้ในการดำเนินงานขององค์กร เพื่อสนับสนุน และเป็นเวทีประกาศเจตนารมณ์ของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงเพื่อสร้างการรับรู้การผลักดันมาตรฐาน มอก. 9999 เข้าสู่มาตรฐานสากล
และในปีนี้ สมอ. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการวิชาการ คณะที่ 292 ของ ISO (ISO/TC 292 Security and resilience) ครั้งที่ 7 ในวันที่ 8-13 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประชุมของคณะกรรมการวิชาการที่รับผิดชอบการกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศในสาขาการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและการปรับตัวสู่ภาวะปกติ ประเทศไทยได้ผลักดันให้ มอก.9999 เข้าสู่การพิจารณาของประเทศสมาชิก ISO เพื่อเป็นมาตรฐานสากล โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 150 คน จากสมาชิกกว่า 30 ประเทศ ที่ประชุมได้รับข้อเสนอของประเทศไทยที่เสนอให้ มอก. ๙๙๙๙ เป็นมาตรฐานสากลไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะมีการดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องของ ISO ต่อไป