คลังเร่ง 3 ปมหนุนอนาคตเศรษฐกิจไทย
ขุนคลัง มั่นใจ 19 พรรคร่วมฯ เดินหน้าแก้ปมเศรษฐกิจได้ ย้ำคุยตัวแทนรัฐ-เอกชนระดับโลก ยืนยันพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศ เผย 3 เรื่องด่วนที่ต้องทำ “ขับเคลื่อนการลงทุนเพิ่มขีดการแข่งขัน – ต่อยอดระบบอีเพย์เม้นท์ – ดูแลสวัสดิการของประชาชน” ระบุ สั่งหน่วยงานคลังเร่งศึกษาและหารือปรับโครงสร้างภาษี เน้นรับมือโครงการลงทุนเพื่ออนาคตผ่าน TFFIF
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวบนเวทีเสวนา Bangkok Post Forum 2019 “Roadmap to Success: Up Close with Thailand’s New Ministers” (ทิศทางประเทศไทยภายใต้รัฐบาลใหม่) ณ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ห้อง A1 ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่า ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลกและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายในและนอกประเทศ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภค และโครงสร้างประชากร ล้วนส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของไทยจนเข้าสู่จุดหักเหสำคัญ
แม้รัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้ง จะมีพรรคร่วมรัฐบาลมากถึง 19 พรรคการเมือง แต่เชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหาในการบริหารประเทศ เพราะทุกพรรคสามารถหลอมรวมนโยบายให้สอดคล้องกับ “ยุทธศาสตร์ชาติ” รวมถึงกำหนดแนวการทำงานตามความเหมาะสมทั้งระยะสั้น และระยะยาว เพื่อเดินหน้าดูแลเศรษฐกิจของประเทศ ตอบสนองต่อความหวังของประชาชน ภาคธุรกิจ และนักลงทุน รวมถึงต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้าน ที่กำลังจับตามองประเทศไทยว่าจะขับเคลื่อนไปในอนาคตอย่างไร
ทั้งนี้จากการที่ได้พบกับ รมว.คลังญี่ปุ่น และเจ้าหน้าที่จากบริษัทจัดอันดับเครดิตสำคัญระดับโลก ทั้งหมดต่างให้ความสำคัญและติดตามการทำงาน รวมถึงสอบถามถึงเสถียรภาพของรัฐบาลไทยอย่างใกล้ชิด และตนได้ยืนยันว่ารัฐบาลไทยชุดปัจจุบันมีเสถียรภาพ
รมว.คลังย้ำว่า สิ่งสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการ ในระยะ 3 เดือนนับจากนี้ คือ 1.การขับเคลื่อนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งไทยต้องการการลงทุนเพื่ออนาคต โดยกระทรวงการคลังจะเตรียมความพร้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยส่งเสริมการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนคิดค้นแนวทางการลงทุนใหม่ๆ ให้เอกชนเกิดความเชื่อมั่นและเข้ามาร่วมลงทุนกับรัฐบาล
โดยเตรียมจะขยายโครงการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFFIF) เพื่อเป็นช่องทางให้เกิดการลงทุนในประเทศโดยคนไทยมากขึ้น ซึ่งได้เร่งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาว่าจะมีโครงการลงทุนใดบ้างที่ต้องการให้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานฯดังกล่าวเข้าไปช่วยสนับสนุนในการระดมทุน
นายอุตตมา กล่าวว่า จากนี้จะพิจารณาว่าควรขยายกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานฯ ในรอบ 2 อย่างไรบ้าง โดยจะดูโครงการที่มีความพร้อมและเหมาะสม ทั้งนี้ จำเป็นจะต้องประสานกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น คมนาคม อย่างไรก็ตาม โครงการนั้นๆ จะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนก่อน จึงจะสามารถบอกได้ว่าไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์จะเปิดระดมทุนรอบต่อไปได้อย่างไร
2.การต่อยอดระบบการเงินแบบดิจิทัล ในเรื่อง e-Payment ซึ่งถือเป็นแผนงานเร่งด่วน โดยต้องการให้ระบบดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงลงไปสู่ประชาชนในระดับฐานราก ทั้งภาคเกษตรกรรม รวมถึง SME ทางการเกษตร ทั้งนี้ เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากโครงสร้างการเงินระบบดิจิทัลด้วย โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมดิจิทัลที่แท้จริงให้เร็วที่สุด และ 3.การดูแลสวัสดิการของประชาชน ซึ่งกระทรวงการคลัง ถือว่าเป็นงานที่สำคัญ โดยต้องใช้งบประมาณให้เกิดความเหมาะสม และสามารถตอบโจทย์ประชาชนได้ทุกกลุ่มด้วย
“การเพิ่มประสิทธิภาพหรือปฏิรูปโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ของประเทศ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลชุดนี้ จะดำเนินการในระยะเร่งด่วน เนื่องจากขณะนี้ ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนค่อนข้างสูง และส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต จึงจำเป็นต้องจัดหารายได้เพื่อนำมาใช้ในโครงการลงทุนต่างๆ โดยมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.), กรมสรรพากร, กรมศุลกากร และกรมสรรพาสามิต ไปร่วมกันศึกษาแนวทางการปรับปรุงและยกระดับระบบการจัดเก็บภาษี เพื่อให้ส่วนหนึ่งสามารถนำมาช่วยดูแลด้านการลงทุนของประเทศ ในขณะที่จะต้องรักษาวินัยการเงินการคลังควบคู่กันไปด้วย” รมว.คลังย้ำ และว่า
แนวทางที่ให้ไปคือ จะดูว่าการจัดเก็บนั้น ต้องสร้างความเท่าเทียมตามความเหมาะสมสำหรับภาคประชาชน, ผู้ประกอบการ และนักลงทุน โดยเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี และเป็นภาระแก่ผู้จ่ายภาษีน้อยที่สุด รวมทั้งขยายฐานการจัดเก็บภาษีในรูปแบบใหม่ๆ เนื่องจากปัจจุบันมีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้น ซึ่งจะต้องดูแลให้เป็นระบบภาษีที่เป็นธรรม ส่งเสริมประเทศในการลงทุน และสร้างนวัตกรรมใหม่ และสร้างฐานภาษี ขับเคลื่อนการลงทุนเพื่อให้มีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศ
รวมถึงการขยายฐานการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่เพิ่มเติม เช่น อาจจัดเก็บภาษีด้านพลังงาน แต่ต้องหารือกันในโอกาสต่อไปกับรัฐมนตรีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยทุกอย่างจะต้องเกิดความสมดุลและสร้างความเป็นธรรมสำหรับผู้เสียภาษีทุกคนด้วย ส่วนแนวคิดการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% รวมถึงภาษีตัวอื่นๆ นั้น จะต้องดูให้รอบคอบในองค์รวมว่าจะพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างภาษีด้านไหนบ้าง โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงการคลังไปศึกษาและหารือกันแล้ว โดยตนได้กำชับให้ทุกฝ่ายจะต้องเร่งดำเนินงานภายในสามเดือนแรก พร้อมกับรายงานให้ทราบในทุกเดือนจากนี้ไป.