หนี้ครัวเรือนพุ่งแต่ไม่ทุบเศรษฐกิจพัง
เมื่อวันที่ 11 มี.ค.59 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้แถลงข่าวถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือน ที่สภาพัฒน์ หรือสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า หนี้ดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาทะลุ 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทำให้เกิดแรงกดดันอย่างจากรัฐบาล ในฐานะผู้บริหารประเทศที่ไม่สามารถลดระบบหนี้ครัวเรือนลงมาได้ กระทรวงการคลังภายใต้การกำกับดูของรองนายกรัฐมนตรี (สมคิด) และรมว.คลัง (อภิศักดิ์) จึงสั่งการให้ สศค.แถลงข่าวดังกล่าว เพื่อดับกระแสข่าวหนี้ครัวเรือน ที่กำลังเป็นอุปสรรคของเศรษฐกิจไทยในอนาคต
“หนี้ครัวเรือนของไทยไม่ได้เพิ่มขึ้นมาจนก่อให้เกิดความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจ แต่ตัวเลขหนี้ครัวเรือนจะพุ่งทะลุ 80% ของจีดีพีก็ตาม แต่ในจำนวนนี้ เป็นหนี้ที่เกิดจากการซื้อสังหาริมทรัพย์ถึง 27% และหนี้ที่เกิดจากการค้าธุรกิจอีก 18% เมื่อรวมกันแล้ว ระดับหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและหนี้จากการค้ารวมกับเท่ากับ 45% หรือมากกว่าครึ่งของหนี้ครัวเรือน“ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สศค. ในฐานะโฆษกของกระทรวงการคลัง ระบุเอาไว้เอกสารแถลงข่าว
สศค.ไม่ได้ห่วงเรื่องหนี้ครัวเรือนที่มีอัตราเพิ่มขึ้น เพราะในจำนวนนี้ ประมาณ 45% เป็นหนี้ที่สามารถลดลงได้ เช่น อสังหาริมทรัพย์ที่เกิดจากการซื้อบ้าน มีแนวโน้มลดลงตามระยะเวลาการผ่อนชำระ ส่วนหนี้จากการค้าธุรกิจนั้น ถือเป็นอนาคตของธุรกิจที่คนจะกู้ยืมเงินมาเพื่อการลงทุน
นอกจากนี้ สศค.ยังชี้ให้เห็นว่า ระดับหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ระดับหนี้ครัวเรือนมีมูลค่ารวม 10.84 ล้านล้านบาทหรือ 80.8% ของจีดีพี คิดเป็นการขยายตัว 5.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ชะลอลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 11 โดยสินเชื่อทุกประเภทมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง หรือหดตัว โดยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ (สินเชื่อ Non-Bank) มีอัตราการขยายตัว 9.2% 6.5% และ 3.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ขณะที่สินเชื่อรถยนต์หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ที่ -4.5%
“หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น มาจากปัจจัย 2 ประการคือ อุทกภัย ในช่วงปลายปี 2554 และนโยบายรถคันแรก ในช่วงปี 2555 โดย ณ สิ้นปี 2554 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 7.48 ล้านล้านบาท 66.2% ของจีดีพี และภายหลังจากทั้ง 2 เหตุการณ์ หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 9.85 ล้านล้านบาท (76.3% ของจีดีพี) ทั้งหมดนี้คือ ประเด็นเก่าๆ ที่เกิดขึ้นก่อนรัฐบาลชุดนี้
ผู้อำนวยการ สศค.ยังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่า “หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อในระบบที่มีหลักประกันและมีความเสี่ยงต่ำ โดยส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อการซื้อสินทรัพย์ เช่น อสังหาริมทรัพย์ คิดเป็น 27% รถยนต์ 15% ) และเพื่อการดำเนินธุรกิจ 18% ซึ่งหากไม่รวมหนี้ที่ครัวเรือนกู้ยืมไปทำธุรกิจ หนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 3 ปี 2558 จะอยู่ที่ 8.94 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 66.6% ของจีดีพี
และหากนำหนี้ครัวเรือนของไทยเปรียบเทียบประเทศเพื่อนบ้าน จะพบว่า ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ใกล้เคียงกับประเทศในภูมิภาค ได้แก่มาเลเซียมีหนี้ 88% และสิงคโปร์ 75% ของจีดีพี และถือว่า ระดับหนี้ดังกล่าว มีอัตราค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่น แคนาดา สหราชอาณาจักร และเดนมาร์ก เป็นต้น
ดังนั้น การใช้จ่ายเงินของรัฐบาลในช่วงนี้ เพื่อเข้าไปพยุงเศรษฐกิจไทยไม่ทรุดหนักไปกว่าเดิม โดยได้เร่งบรรเทาผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ขณะเดียวกันก็สร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานราก ผ่านมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ในระดับหมู่บ้านและระดับตำบล มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาล รวมถึงการสนับสนุนเงินทุนให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองภายใต้โครง การเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวประชารัฐเพื่อใช้ในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน
นอกจากนี้ รัฐบาลยังคำนึงถึงการวางรากฐานแก่เศรษฐกิจไทยให้มีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่ง ขันและและการพัฒนาโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้กับประเทศ โดยมีมาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และมาตรการสนับสนุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในการเป็นกลไกขับ เคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ทั้งการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพที่มีอยู่แล้วในประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยผลิต ซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะกลาง (First S-Curve) และการลงทุนและพัฒนาในอุตสาหกรรมใหม่เพื่อเปลี่ยนรูปแบบสินค้าและเทคโนโลยีที่สร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงให้แก่ประเทศ (New S-curve) ควบคู่กันไปด้วย.