ครึ่งปีแรกยอดลงทุนซื้ออสังหาฯในไทยพุ่งเกือบ2หมื่นล.
JLL ระบุแนวโน้มการลงทุนซื้ออสังหาฯทั้งปี 62 แนวโน้มเติบโต หลังครึ่งแรกของปีนี้ มีมูลค่า 19,200 ล้านบาท เผยอสังหาฯประเภทโลจิสติกส์ในโซนอีอีซี จะได้รับความสน เหตุบริษัทหลายรายย้ายฐานหนี้เทรดวอร์
นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ เจแอลแอล บริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ กล่าวถึงการลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยว่า คาดว่าการลงทุนในรายการใหญ่ๆจะยังคงเป็นการซื้อขายที่ดินและอาคารในกรุงเทพฯ ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มีมูลค่าที่เกิดขึ้นแล้ว 19,200 ล้านบาท ในจำนวนนี้ ราวกึ่งหนึ่งมาจากการซื้อขายสองรายการใหญ่ในกรุงเทพฯ ได้แก่ อาคารสำนักงานซันทาวเวอร์ส และที่ดิน 11 ไร่ใกล้สถานีบีทีเอสหมอชิต
โดยมีรายการที่มีการลงทุนซื้อขายเกิน 1,000 ล้านบาท มีทั้งสิ้น 4 รายการ โดยรายการที่มีมูลค่าสูงสุดคือ การขายซันทาวเวอร์ส คอมเพล็กซ์ อาคารสำนักงานริมถนนวิภาวดีรังสิตโดยบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) เข้ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ เอส ไพรม์ โกรท (SPRIME) ด้วยมูลค่า 5,700 ล้านบาท
รายการลงทุนมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับสอง คือ การซื้อที่ 2 แปลงรวมมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท โดย บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ โดยในเดือนเมษายน ซิโน-ไทยได้ซื้อที่ขนาด 11 ไร่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิตจาก บมจ.ยูซิตี้ ในราคา 4,300 ล้านบาท เพื่อพัฒนาคอมเพล็กซ์อาคารสำนักงาน ส่วนในเดือนมิถุนายน บริษัทลูกของซิโน-ไทย คือเอสที พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ โลจิสติกส์ ได้เข้าซื้อคอมมูนิตี้มอลล์ซัมเมอร์ฮิลล์และอาคารสำนักงานซัมเมอร์ฮับ ออฟฟิศ จาก บมจ.บูทิค คอร์ปอเรชั่น ด้วยมูลค่า 957 ล้านบาท
ส่วนการลงทุนซื้อขายที่ดิน ที่มีราคาต่อตารางวาสูงสุดในครึ่งแรกของปีนี้ โดย บมจ.แชงกรี-ลา โฮเต็ล ซึ่งซื้อที่ดินขนาด 658 ตารางวาในย่านทองหล่อมูลค่าประมาณ 1,900 ล้านบาท หรือราว 2.86 ล้านบาทต่อตารางวา
“ที่ดินที่แชงกรี-ลา โฮเต็ลซื้อไปในปีนี้ นับว่ามีราคาต่อตารางวาที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์สำหรับการซื้อที่ดินเพื่อการพัฒนาโครงการโรงแรม แต่ยังไม่ทำลายสถิติราคาที่ดินตารางวาละ 3.1 ล้านบาทสำหรับที่ดินขนาด 880 ตารางวาบนถนนหลังสวน ที่เจแอลแอลเป็นตัวแทนเจ้าของที่ดินขายไปในปี 2561”
ทั้งนี้ คาดว่า ธุรกรรมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เชิงอุตสาหกรรม จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เนื่องจากมีบริษัทหลายรายเริ่มย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น จากผลพวงของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ประกอบกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจอีคอมเมอร์สในประเทศไทย กระตุ้นให้มีความต้องการใช้อสังหาฯประเภทโลจิสติกส์เพิ่มมากขึ้น.