ฝันดันไทยขึ้นชั้น ศก. Startup เอเชีย
งัด “โลว์เทค” เปิดงานใหญ่ Startup Thailand 2019 ขยายพื้นที่จัดงาน 9 แห่งทั่วเมืองหลวง หวังดันกรุงเทพฯ ขึ้นชั้น “ศูนย์กลาง” Startup ที่ดีสุดแห่งเอเชีย ด้าน รมว.การอุดมศึกษาฯ ฝันตั้งกองทุนหนุนคนรุ่นใหม่ สู่ “นักรบเศรษฐกิจ” ก่อนจบมหา`ลัย
กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทย ถูกคาดหวังจาก “รัฐบาลประยุทธ์” ตลอด 5 ปีของสมัยแรก และต้นเทอมของสมัยที่ 2 ในวันนี้ กับความฝันที่จะก้าวไปสู่ความเป็น “ศูนย์กลาง” ของ “วิสาหกิจเริ่มต้น” (Startup) ที่ดีที่สุดในเอเชีย หลังจาก 4 ปีก่อนหน้านี้ พวกเขา Kick Off เริ่มต้นเชิงนโยบายสนับสนุนความมีตัวตนของ Startup ในไทย
การจัดงาน Startup Thailand 2019 ณ True Digital Park สุขุมวิท 101/1 เมื่อวันที่ 24 ก.ค.62 และจะจัดต่อเนื่องจนครบ 5 นับจากวันนี้ไป กับ 9 พื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ ตลอดแนวรถไฟฟ้า BTS และ MRT ได้แก่ NIA, TCDC, KX, SID Accelerate, True Digital Park, Naplab, Glowfish, AIS D.C.
ทว่ามีคำถามและข้อสงสัยมากมายกับเป้าหมายข้างต้น นั่นเพราะแค่การเปิดตัวท่ามกลางกองทัพสื่อมวลชนและพันธมิตรจากทั่วโลก โดยเฉพาะแขกคนสำคัญชาวต่างชาติ ผู้จัดฯกลับไม่เตรียมเครื่องแปลภาษาให้คนเหล่านี้ จนพวกเขา บ้างก็…อ้าปากค้าง บ้างก็…ก้มหน้าดูโทรศัพท์มือถือ หรือไม่ก็เบือนหน้าหันไปทางอื่น เพราะไม่รู้ความหมายที่ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวเปิดงานฯ
แถมไฮไลต์ของงานฯ ช่วงที่ประธานฯ และเจ้าภาพฯ อย่าง กระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะต้อง “กดปุ่ม” เปิดงานอย่างเป็นทางการนั้น ไม่ได้โชว์ถึงความล้ำสมัยของเทคโนโลยีที่สื่อถึงความต้องการจะเป็น “เมืองที่ดีที่สุดในเอเชียสำหรับ Startup” แต่อย่างใด?
โลว์เทคมากๆ จึงไม่น่าแปลกใจ…หากเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ดังกล่าว จะถูกมองข้ามจาก Startup ทั่วทุกมุมโลก ในยุคของ “รัฐบาลประยุทธ์ 1 และ 2”
กลับสู่เนื้องาน…เมื่อ นายสุวิทย์ กล่าวบนเวทีดังกล่าวว่า การส่งเสริม Startup เป็นสิ่งที่ทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา จะต้องร่วมมือ และผลักดันประเทศไปสู่ความเป็น “ชาติสตาร์ทอัพ” อันจะทำให้เศรษฐกิจของชาติเติบโต คนไทยได้งานทำอย่างคุ้มค่า ลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ทำให้ไทยหลุดพ้นจาก “กับดัก” ประเทศรายได้ปานกลาง สู่ความเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในอนาคตอันใกล้
“รัฐบาลให้ความสำคัญกับ Startup ในฐานะ “นักรบเศรษฐกิจ” ที่จะเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนไทยให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างมั่นคง ภายในปี 2580 ตามวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นับจากวันนี้ ซึ่งจำต้องเร่งสร้าง Startup Ecosystem หรือนิเวศน์ของสตาร์ทอัพ อย่างเป็นระบบ” รมว.การอุดมศึกษาฯย้ำ และว่า
รัฐบาลจะตั้งกองทุน Yong Startup ขึ้นในสถาบันการศึกษาทุกแห่ง รองรับนักศึกษาทั้งในระดับอุดมศึกษาและระดับอาชีวะศึกษาที่มีมากกว่า 1 แสนคนทั่วประเทศ เพื่อให้คนกลุ่มนี้ ที่แม้จะเพิ่งเข้าเรียนในระดับชั้น ปีที่ 1 ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน และได้รับการสนับสนุนในทุกมิติ รองรับเป้าหมายการเป็น Startup ที่มีอนาคต ทั้งนี้ หากนักศึกษาได้มีโอกาสเริ่มต้นตั้งแต่ปีแรก อีก 2-3 ปี อาจประสบความสำเร็จก้าวสู่ความเป็นนักธุรกิจ Startup โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เรียนจบและรับปริญญาตรี โดยที่สังคมและภาคธุรกิจต่างให้การยอมรับกับความสำเร็จของคนรุ่นใหม่เหล่านี้
นายสุวิทย์กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบจัดตั้ง “หน่วยบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว” (OSS) เพื่อเป็นศูนย์กลางส่งเสริม Startup ทั้งในและต่างประเทศ ที่สนใจจะเข้ามาทำงานในประเทศไทย ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จนถึงเริ่มดำเนินธุรกิจ รวมถึงจัดให้มีการบ่มเพาะ จัดหาสถานที่ทำงานร่วมกัน ติดต่อประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกด้านต่างๆ
นอกจากนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) จะทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ โดยที่กระทรวงการคลังจะสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุน กระทรวงพาณิชย์ช่วยกระตุ้นตลาดและเปิดตลาดใหม่ ขณะที่สภาพัฒน์ (สศช.) บีโอไอ และส่วนราชการอื่นๆ ก็พร้อมจะให้การสนับสนุนในส่วนที่ตนรับผิดชอบดูแล รวมถึงองค์กรภาคเอกชนต่างๆ
“ในฐานะที่ไทยเป็นเจ้าภาพอาเซียนในปีนี้ จะผลักดันและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะด้าน Startup ส่วนหนึ่งเพราะอาเซียนเป็นชาติแห่งการค้า ที่มีปริมาณการค้าขายกับทั่วโลก ถือเป็นหนึ่งฟันเฟือนหลักของเศรษฐกิจโลก เชื่อว่าอาเซียนจะต้องเป็นศูนย์กลางแห่งเทคโนโลยีของโลก (Tech Hub of the World) ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน และไทยก็พร้อมแล้วที่จะเป็นศูนย์กลางของ Startup ในภูมิภาคเอเชีย” นายสุวิทย์ ระบุ
ด้าน รศ. นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าวว่า ตลอด 3 ปีของการสร้าง “นักเศรษฐกิจใหม่” ก่อกระแสตื่นตัวในเรื่อง Startup ในไทย จนเกิดภาพ Thailand Startup Universe อันเป็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคสังคม และภาคประชาชน ขยายวงกว้างและเติบโตอย่างต่อเนื่อง กระทั่ง สามารถพัฒนาระบบนิเวศสตาร์อัพ ครอบคลุม 35 มหาวิทยาลัย และอีกกว่า 1,000 แห่งในระดับอาชีวศึกษาทั่วประเทศ
ส่วน นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผอ.NIA กล่าวว่า NIA จับมือกับอาเซียนและพันธมิตร 12 ประเทศ จัดสุดยอดประชุมการพัฒนาตลาดอาเซียนเพื่อสตาร์อัพ : Southeast Asia Startup Assembly (SEASA) ในวันนี้ (24 ก.ค.) วัตถุประสงค์เพื่อขยายขอบเขตความร่วมมือในการพัฒนาตลาดอาเซียนเพื่อสตาร์อัพขึ้นเป็นครั้งแรก โดยหวังจะเห็นการลงทุน พัฒนาศักยภาพ สร้างเครือข่ายธุรกิจ และนวัตกรรมระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงลงนามปฏิญญาร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกฯ พร้อมสร้างเครือข่ายระดับภูมิภาคเพื่อให้เกิดความแข็งแกร่งในด้าน Startup ต่อไป.