ผู้ผลิตน้ำดื่มเพิ่มกำลังผลิต 30%
กระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับผู้ประกอบการผลิตน้ำดื่ม ช่วยเพิ่มสต็อกช่วงหน้าแล้ง จากปัจจุบันสต็อก 5-7 วัน จะเพิ่มขึ้นเป็น 10 วัน เพื่อสร้างความมั่นใจกับผู้บริโภค หวั่นเกิดปัญหาการกักตุนน้ำดื่ม ทำให้ขาดแคลน
เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา อธิบดีกรมการค้าภายในได้เชิญผู้ผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย เข้าพบเพื่อหาทางรับมือน้ำดื่มขาดแคลนในช่วงหน้าแล้งนี้ โดย น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวภายหลังจากการหารือเสร็จสิ้นว่า ได้ขอความร่วมมือผู้ผลิตน้ำดื่มให้เพิ่มสต็อกการเก็บน้ำดื่มบรรจุขวดจาก 5-7 วันเป็น 10 วัน เริ่มตั้งแต่เดือนมี.ค.จนสิ้นสุดภัยแล้ง เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคว่าน้ำดื่มจะไม่ขาดแคลนในช่วงหน้าร้อน
ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตน้ำดื่มเองได้รับปากว่า จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำอีก 20-30% จากช่วงปกติ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคทั่วประเทศด้วย โดยจะยังไม่ปรับราคาเพิ่มขึ้นแน่นอน สำหรับน้ำดื่ม500 มิลลิลิตร ราคา 7 บาท และขนาด 1,500 มิลลิลิตร ราคา 14 บาท ก็ยังราคาคงเดิม
“ผู้ผลิตน้ำดื่มรายใหญ่ 8 ราย ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตน้ำดื่ม 80% ของปริมาณตลาดน้ำดื่มในไทยยืนยันว่า มีแหล่งผลิตน้ำดื่มเพียงพอไปตลอด ทั้งจากแหล่งน้ำบาดาล ซึ่งมีความลึกลงไปในดิน 300-400เมตร (ม.) ลึกกว่าบ่อบาดาลทั่วไปที่มีความลึกประมาณ 100 ม. ซึ่งสามารถนำมาผลิตน้ำดื่มได้อีก 30-40 ปี รวมถึงยังมีน้ำประปา และน้ำจากธรรมชาติอีก จึงขอให้ทุกฝ่ายสบายใจได้ว่าน้ำดื่มในประเทศไทยไม่ขาดแคลนแน่นอน และไม่อยากให้ร้านค้า หรือผู้บริโภคกักตุน เพราะอาจทำให้ตลาดเกิดความปั่นป่วนได้” อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวยืนยัน และกล่าวต่อว่า
“ยังได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการ ช่วยกันตรวจสอบปริมาณน้ำขวดในร้านค้าทั่วไปและห้างต่างๆ ด้วยว่ามีปริมาณน้ำดื่มมีเพียงพอหรือไม่ ถ้าขาดก็ต้องรีบส่งไปให้ถึงมือโดยเร็วที่สุด เพราะผู้ผลิตน้ำดื่มมีรถขนส่งรวมกันทั่วประเทศ 2,000-3,000 คัน ดังนั้น จังหวัดใดที่ได้ถูกประกาศเป็นเขตภัยแล้งขาดน้ำดื่มหรือเกิดภาวะฉุกเฉิน ผู้ประกอบการจะต้องกระกระจายสินค้าทันที”
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.นี้เป็นต้น กรมการค้าภายใน กระทรวงการพาณิชย์ได้นำสินค้าน้ำดื่มบรรจุภาชนะผนึก เข้าไปอยู่ในรายการสินค้าจับตาเป็นพิเศษ เพื่อจะได้ติดตามดูแลสถานการณ์ขายและราคาได้เป็นประจำทุกวัน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทัน หากพบเหตุผิดปกติจากเดิมน้ำดื่มอยู่ในบัญชีติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด
ขณะที่ นายวิชัย กัลยาณเมธี กรรมการบริหารสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวว่า สมาชิกสมาคมฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำดื่มรายใหญ่ 7 ราย เช่น แบรนด์คริสตัล, เนสท์เล่, อะควาฟีน่า, คาราบาว ฯลฯ และรวมกับ บริษัท บุญรอด บริวเวอร์รี่ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก รวมเป็น 8 ราย ได้หารือร่วมกันแล้วว่าในช่วงหน้าร้อนปีนี้ หรือตั้งแต่เดือนมี.ค.-เดือนก.ค.นี้ แต่ละบริษัทจะผลิตน้ำดื่มเพื่อเก็บสต๊อกไว้ 20-30% จากช่วงปกติ เพราะมีการประเมินแล้วว่าความต้องการบริโภคในดื่มในปีนี้อาจสูงกว่าทุกปี
“การสต๊อกนั้น แต่ละบริษัทจะไปบริหารจัดการตามกำลังผลิตของแต่ละราย อย่างบริษัทในเครือเสริมสุขมีการกำลังการผลิตน้ำดื่มต่อปีที่ 600 ล้านลิตร หรือเฉลี่ยเดือนละ 50 ล้านลิตร ในแต่ละเดือน จะผลิตตามยอดขายแต่ในช่วงหน้าร้อน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคก็จะมีการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อสต็อกไว้ 30% อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ปีนี้น้ำดื่มจะไม่ขาดแคลนแน่นอน เพราะถ้าน้ำประปาน้อยเราหันไปใช้น้ำบาดาลมากขึ้น”
นายประภาส อดิสยเทพกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดาราเหนือ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตน้ำดื่มตราโพลาริส กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นไม่กระทบต่อปริมาณน้ำดื่มบรรจุขวด รวมถึงการผลิตน้ำดื่ม เพราะใช้น้ำบาดาล ซึ่งกำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 3 ล้านแพ็คต่อเดือน และจะเพิ่มกำลังการผลิตในช่วงสภาพอากาศร้อนจัด เพราะความต้องการเพิ่มขึ้นมาก อย่างไรก็ตามขณะนี้ ยังไม่พบประชาชนแห่กักตุนน้ำดื่ม ดังนั้นขอให้มั่นใจว่า น้ำดื่มบรรจุขวดไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน
ในวันเดียวกันที่กรมบัญชีกลาง นางสาวอรนุช ไวนุสิทธิ์ รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง แถลงข่าวว่ากรมบัญชีกลางได้ขยายวงเงินทดรองราชการในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) เพิ่มเติม จังหวัดละ 30 ล้านบาท ซึ่งจากเดิมกำหนดให้จังหวัดละ 20 ล้านบาทรวมเป็นจังหวัดละ 50 ล้านบาท เพื่อใช้ให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติที่ได้รับผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และความเป็นอยู่
ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยใช้จ่ายจากเงินทดรองราชการจะต้องมีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกับคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด หรือ ก.ช.ภ.จ. และเมื่อ ก.ช.ภ.จ. สำรวจความเสียหายในพื้นที่ที่รับผิดชอบเรียบร้อยแล้ว จะเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาอนุมัติค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ได้รับความเดือดร้อน และเมื่อได้ช่วยเหลือแล้ว จังหวัดต้องส่งเอกสารต่าง ๆ ให้กรมบัญชีกลาง เพื่อขอเบิกเงินงบประมาณชดใช้เงินทดรองราชการ ซึ่งวงเงินเดิม 20 ล้านบาท.