NEDA ส่งมอบถนน 2,000 ล. ให้ลาว
NEDA เชื่อมสัมพันธ์ “ไทย-ลาว” สุดชื่นมื่นหลังส่งมอบถนนสายเมืองหงสา- บ้านเชียงแมนฯเขตสปป.ลาวความยาว 114 กม. มูลค่าเฉียด 2,000 ล้านบาทให้ทางการลาว เผยต้องปล่อยกู้เพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท หวังผุดสะพานข้ามแม่น้ำโขงมุ่งสู่เมืองหลวงพระบาง เผยโครงการนี้เอื้อประโยชน์ต่อการเดินทางเพื่อท่องเที่ยวและการค้าชายแดนในอนาคตอย่างมาก แถมยังเชื่อมต่อไปจีนและเวียดนามได้อีก
นายพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผอ.สำนักความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือNEDA พร้อมคณะผู้บริหารและพนักงานฯนำคณะสื่อมวลชนไทยลงพื้นที่สำรวจโครงการก่อสร้างถนนจากเมืองหงสา- บ้านเชียงแมน (เมืองจอมเพชรแขวงหลวงพระบาง) สปป.ลาวซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 12 พ.ย.57 เพื่อดำเนินการช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประเทศเพื่อนบ้านโดยมีผู้บริหารทั้งจากภาครัฐและเอกชนจากฝั่งไทยและจากสปป.ลาวร่วมให้การต้อนรับระหว่างวันที่ 25-28 มิ.ย.ที่ผ่านมา
สำหรับถนนในโครงการดังกล่าวมีความยาว114 กม. มีจุดเริ่มต้น(กม.ที่0) บริเวณเมืองหงสาซึ่งไม่ห่างจากด่านห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่านมากนัก โดยใช้วงเงินก่อสร้าง 1,977 ล้านบาท ซึ่ง 80% เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 1.5% ต่อปีอายุสัญญากู้เงิน 30 ปี ที่เหลืออีก 20% เป็นการข่วยเหลือแบบให้เปล่าจากรัฐบาลไทย
นายพีรเมศร์กล่าวว่า ภารกิจหลักของ NEDA ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังเป็นไปเพื่อความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในประเทศเพื่อนโดยเฉพาะกลุ่มCLM (กัมพูชาลาวและเมียนมาร์) สำหรับโครงการก่อสร้างถนนจากเมืองหงสา- บ้านเชียงแมนสปป.ลาวในครั้งนี้เชื่อว่าจะเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่าง2 ประเทศเริ่มจากฝั่งไทยบริเวณด่านห้วยโก๋นจ.น่านมุ่งหน้าสู่แขวงหลวงพระบางสปป.ลาว ซึ่งเป็นเมืองมรดกโลกและเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก
“จ.น่านของไทยและเมืองหลวงพระบางของสปป.ลาวถือเป็น“เมืองคู่แฝด” ซึ่งเมื่อโครงการก่อสร้างถนนจากเมืองหงสา- บ้านเชียงแมนฯในฝั่งสปป.ลาวแล้วเสร็จ จะก่อประโยชน์ต่อทั้ง 2 ประเทศ ทั้งมิติของการเดินทางไปมาหากัน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ซึ่งแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจากฝั่งไทยเดินทางข้ามไปยังฝั่งสปป.ลาวทางด่านห้วยโก๋นเป็นจำนวนมาก และมิติทางด้านเศรษฐกิจซึ่งที่ผ่านมาไทยต้องนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากสปป.ลาว สูงถึงปีละกว่า 9,000 ล้านบาท ขณะที่การส่งออกของไทยส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องยนต์และรถยนต์ แต่ปริมาณการค้าก็ยังไม่สูงนัก ซึ่งการเกิดขึ้นของถนนสายดังกล่าวอาจนำไปสู่การค้าชายแดนระหว่างประเทศที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งได้” นายพีรเมศร์กล่าวและว่า
ถนนสายดังกล่าวส่มารถเชื่อมโยงจากแขวงหลวงพระบางต่อไปยังประเทศจีนโดยผ่านถนนหมายเลข 3 และต่อไปยังประเทศเวียดนามผ่านถนนหมาย 4 ได้อีก ซึ่งจะทำให้ถนนสายดังกล่าวเชื่อมต่อจากไทยไปสปป.ลาว และต่อไปยังประเทศจีนและเวียดนาม โดยจะช่วยส่งเสริมทั้งทางด้านคมนาคมขนส่งการท่องเที่ยวเศร้าการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม แม้ถนนเส้นดังกล่าวจะมุ่งหน้าสู่แขวงหลวงพระบางสปป.ลาว โดยช่วยลดระยะเวลาการเดินทางจากปกติ 6-7 เหลือ 3 ชม. เศษ แต่จุดสิ้นสุดของโครงการ (กม.ที่114) ก็ยังไม่ข้ามบริเวณแม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่าน สปป.ลาว และยังต้องนำรถยนต์ขึ้นแพขนานยนต์เพื่อข้ามไปขึ้นอีกฝั่งหนึ่งซึ่งในเรื่องนี้ ผอ.NEDA ย้ำว่าจำเป็นต้องให้เงินกู้แก่ทางการลาวอีกก้อนหนึ่งเพื่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงไปยังอีกฝั่งของหลวงพระบางเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวและผู้สัญจรทั่วไป
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยเพิ่งมีมติครม.อนุมัติโครงการดังกล่าวแล้วหลังจากผู้นำของทั้ง2 ประเทศเพิ่งได้หารือร่วมกันระหว่างการประชุมอาเซียนสุดยอดอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อนซึ่งขณะนี้โครงการฯอยู่ระหว่างการคัดเลือกแบบจากนั้นจึงจะเปิดให้มีการประมูลแบบและดำเนินการก่อสร้างโดยตัวแทนฝ่ายไทยและสปป.ลาวจะได้ร่วมกันตัดสินใจในโอกาสต่อไป
คาดว่าโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม้น้ำโขงต่อเชื่อมจากถนนเส้นเมืองหงสา- บ้านเชียงแมนฯเพื่อข้ามไปยังเมืองหลวงพระบางในครั้งนี้น่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างกระทั่งแล้วเสร็จภายใน2-3 ปีนับจากนี้โดยใช้งบประมาณก่อสร้างกว่า1,000 ล้านบาทซึ่งผอ. NEDA กล่าวว่าคงต้องพิจารณารายละเอียดของสัญญาเงินกู้สำหรับโครงการดังกล่าวอีกครั้งว่าควรจะใช้เงื่อนไขเดียวกับโครงการก่อสร้างถนนสายเมืองหงสา- บ้านเชียงแมนฯหรือไม่
อนึ่งจากความสำเร็จของโครงการก่อสร้างถนนสายเมืองหงสา- บ้านเชียงแมนฯจึงได้มีพิธีแถลงข่าวอย่างเป็นทางการร่วมกันระหว่างฝ่ายไทยและสปป.ลาวเกี่ยวกับ“เส้นทางเชื่อมโยงเมืองคู่แฝดน่าน- หลวงพระบางสู่การเติบทางเศรษฐกิจไทย- ลาว” เมื่อช่วงสายของวันที่27 มิ.ย.62โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิในหลากหลายสาขาทั้งจากฝั่งไทย และสปป.ลาว เข้าร่วมงานฯเป็นจำนวนมาก.