ตลาดหุ้นดีขึ้นหลังสงครามการค้าคลี่คลายลง
SCB CIO Office ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้น หลังความกังวลสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนคลี่คลายลง
ตลาดหุ้นทั่วโลก ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจาก ประเด็นสงครามการค้าที่คลี่คลายลง หลังสหรัฐฯ เลื่อนการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน วงเงิน 2.5 แสนล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ จาก 25% เป็น 30% ในวันที่ 1 ต.ค. เป็นวันที่ 15 ต.ค. ขณะที่จีนประกาศยกเว้นอัตราภาษี 25% บนสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ 16 รายการ เป็นเวลา 1 ปี โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 17 ก.ย. 2562 จนถึงวันที่ 16 ก.ย. 2563 นอกจากนี้ ยังได้รับแรงหนุนจาก การผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งรวมถึง การปรับลดดอกเบี้ยเงินฝาก การดำเนินโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) วงเงิน 2 หมื่นล้านยูโร/เดือน และมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากนโยบายดอกเบี้ยติดลบ ขณะที่ ECB จะยังตรึงดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปหรือลดลง หากเงินเฟ้อยังต่ำกว่า 2% ด้านตลาดหุ้นจีน ได้รับแรงหนุน จากการประกาศยกเลิกการจำกัดโควตาการลงทุนสำหรับนลท.สถาบันต่างชาติที่มีคุณสมบัติเหมาะสม (QFII) และนลท.สถาบันต่างชาติที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับการใช้สกุลเงินหยวน (RQFII) เพื่อเปิดเสรีตลาดทุนจีนมากขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมัน ปรับลดลง หลังปธน.ทรัมป์สั่งปลดนายจอห์น โบลตัน ซึ่งเป็นผู้มีท่าทีแข็งกร้าวในประเด็นอิหร่าน ออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคง ส่งผลให้ตลาดมองว่า สหรัฐฯ อาจผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน นอกจากนี้ โอเปกได้ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกปีนี้และปีหน้าลง
ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นส่วนใหญ่มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน เพื่อรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) โดยเราคาดว่า ตลาดหุ้นยังมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจาก 1) สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ผ่อนคลายลง หลังปธน.ทรัมป์ ระบุว่า จะพิจารณาทำข้อตกลงทางการค้าฉบับชั่วคราวกับจีน แม้ว่าจะยังต้องการที่จะทำข้อตกลงทางการค้าฉบับสมบูรณ์ก็ตาม ขณะที่ล่าสุด ทางการจีนออกมาสนับสนุนให้บริษัทจีนนำเข้าถั่วเหลือง และเนื้อหมูจากสหรัฐฯ โดยสินค้าดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้า ซึ่งถือเป็นสัญญาณเชิงบวกในการปูทางไปสู่การเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้ง 2 ฝ่าย ที่จะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือน ต.ค. 2) สภาพคล่องในตลาดที่จะเพิ่มขึ้น จากการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักๆ ทั้ง ECB และ Fed โดยเราคาดว่า Fed มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ย 0.25% อย่างไรก็ตาม ให้ติดตามถ้อยแถลงของ Fed หาก Fed ส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินน้อยกว่าที่ตลาดคาด อาจส่งผลให้มีแรงขายในสินทรัพย์เสี่ยง และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Bond Yield) ปรับเพิ่มขึ้น ด้านราคาน้ำมัน มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังเกิดเหตุโดรนโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันในซาอุดิอาระเบีย 2 แห่ง ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตหายไปถึง 5.7 ล้านบาร์เรล/วัน (คิดเป็น 50% ของกำลังผลิตของซาอุดิอาระเบีย และคิดเป็น 5% ของกำลังการผลิตโลก) อย่างไรก็ตาม ทางซาอุดิอาระเบีย คาดว่าจะสามารถกลับมาผลิตน้ำมันได้ 1 ใน 3 ของที่เสียหายไป หรือราว 2 ล้านบาร์เรลภายในสิ้นวันนี้ และสามารถกลับมาผลิตเต็มกำลังได้ภายในสัปดาห์นี้ ขณะที่ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้มีคำสั่งให้เพิ่มปริมาณน้ำมันออกมาจากสำรองทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การโจมตีในครั้งนี้ อาจทำให้ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มสูงขึ้น และทำให้ท่าทีของสหรัฐฯ ที่เตรียมจะผ่อนผันการคว่ำบาตรอิหร่านเปลี่ยนแปลงได้ หากพบว่า อิหร่านเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีในครั้งนี้
เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)
• ติดตามความคืบหน้าประเด็น Brexit หลังนายบอริส จอห์นสัน จะเข้าพบกับ นาย ฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ที่ลักเซมเบิร์ก ในวันที่ 16 ก.ย. เพื่อหารือประเด็นการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษ
• การประชุม Fed (17-18 ก.ย.) เราคาดว่า Fed มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ย 0.25% เป็น 1.75%-2.00% หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง นอกจากนี้ Fed มีแนวโน้มปรับลดคาดการณ์ค่ากลางดอกเบี้ยในปี 2019 และปี 2020 รวมถึงปรับลดคาดการณ์ GDP ในปีนี้และปีหน้าลง เนื่องจากผลกระทบของความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าต่อเศรษฐกิจ
• การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) (19 ก.ย.) เราคาดว่า BoJ มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยเป้าหมายระยะสั้นที่ -0.1% และคงดอกเบี้ยเป้าหมายระยะยาวที่ราว 0%+20 bps
• การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) (19 ก.ย.) เราคาดว่า BoE มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยที่ 0.75% เพื่อรอดูความชัดเจนจากประเด็น Brexit
• ติดตามความคืบหน้า การเจรจาแก้ไขข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยในสัปดาห์นี้ จะมีการหารือกันในระดับคณะทำงานที่ กรุงวอชิงตัน
ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้
ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมัน / ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐฯ / ดุลการค้าของญี่ปุ่น / อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่น ยุโรป และอังกฤษ/ ผลผลิตอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก การลงทุนสินทรัพย์คงที่ของจีน / ดุลการค้าของไทย
เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ ความคืบหน้าประเด็น Brexit / ผลการประชุม Fed, BoJ และ BoE / การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน / FTSE ปรับการคำนวณน้ำหนักหุ้นไทยในดัชนี.