กูรูชี้แบงก์-แบงก์กลางปรับตัวรับ Libra
กูรูเงินดิจิทัล “ภูมิ ภูมิรัตน” ฟันธง! ไม่ว่า “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” จะถอดใจผุดเหรียญ Libra หรือไม่? สุดท้าย “เงินดิจิทัล” ก็จะคุกคามแบงก์พาณิชย์-ธนาคารกลางของทุกประเทศอยู่ดี แนะเร่งปรับตัวรับมือโลกยุคใหม่ ที่มีจุดเด่นเหนือกว่าระบบชำระเงินแบบเก่าทุกประตู
บริษัท ศูนย์ฝึกอบรมทิพย จำกัด ในเครือ บมจ.ทิพยประกันภัย จัดงาน Afternoon Tea Talk #1 หัวข้อ “Libra = จุดเปลี่ยนการเงินโลก” โดยมี ดร.เปรมประชา ศุภสมุทร กก.ผจก. บริษัท ศูนย์ฝึกอบรมทิพย เกริ่นนำ จากนั้น นายสมใจนึก เองตระกูล ปธ.กก.บมจ.ทิพยประกันภัย กล่าวเปิดงาน ณ ห้องบอลรูม 1 ร.ร.ดิเอมเมอรัลด์ รัชดา เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา
ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและระบบรักษาความปลอดภัย ในฐานะกูรูทางด้าน Crytocurrency (เงินดิจิทัล) และเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมในการดีไซน์ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ให้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมถึงกฎหมายทางการเงินให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึง Libra สกุลเงินดิจิทัล ที่เกิดจากความร่วมมือของเครือข่ายสังคมออนไลน์ระดับโลกอย่าง Facebook และพันธมิตรธุรกิจชั้นนำของโลกเกือบ 30 แห่ง ตอนหนึ่งว่า
“แม้นายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เจ้าของและผู้ก่อตั้ง Facebook จะจัดตั้งสมาคม Libra โดยระดมทุนจากพันธมิตรข้างต้น ขึ้นในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และให้สมาคมแห่งนี้ เป็นเจ้าของและผู้ออกเหรียญ Libra เพื่อตัดปัญหาความเชื่อมโยง จนทำให้สังคมโลกรู้สึกเคลือบแคลงถึงปัญหาการรั่วไหลของข้อมูลทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นกับบริษัทชั้นนำและธนาคารระดับโลก ทว่าทั้งรัฐบาล และธนาคารกลางของหลายๆ ประเทศยักษ์ใหญ่ในยุโรป รวมถึงสมาชิกรัฐสภา (วุฒิสมาชิก) ของสหรัฐอเมริกาเอง ต่างก็ไม่สบายใจกับการเกิดขึ้นของสกุลเงินดิจิทัล Libra ซึ่งมีความเสถียรมากกว่า Bitcoin หรือ เงินดิจิทัลในชื่ออื่นๆ ที่มีมากกว่า 2,500 เหรียญ (ชื่อ) ทั่วโลก เนื่องจากมีการประกันมูลค่าผ่านระบบตะกร้าเงินในสกุลชั้นนำของโลก จนกลายเป็นแรงกดดันและบีบคั้นต่อ Libra ขณะที่ ทางการของสวิสเซอร์แลนด์เอง ก็พยายามจัดรูปแบบธุรกิจของสมาคม Libra ว่าอาจเข้าข่ายอยู่ในกลุ่มสถาบันการเงิน จึงทำให้แผนการเปิดตัว Libra ล่าช้ากว่ากำหนดเดิม”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแรงกดดันที่มีจากทั่วโลก จะทำให้แผนงานของนายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ล่าช้าออกไป กระทั่ง อาจถอดใจเลิกออกเหรียญ Libra ทว่าส่วนตัว ยังเชื่อว่าจะมีบริษัทข้ามชาติจากทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมืออาชีพ โดยเฉพาะจากประเทศจีน อาจเข้ามาสานต่อแนวคิดนี้และดำเนินการออกเหรียญสกุลเงินดิจิทัลที่มีลักษณะใกล้เคียงกับ Libra เนื่องจากแนวคิดและเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังเหรียญ Libra ถือเป็นอนาคตของโลกการเงินยุคใหม่ ซึ่งอาจจะได้เห็นในอีก 4-5 ปีข้างหน้า หรือมากกว่านั้น แต่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ดร.ภูมิย้ำว่า หากเหรียญ Libra เกิดขึ้น จะสร้างความเปลี่ยนของระบบการเงินและการชำระเงินทั่วโลก โดยระยะสั้น จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจการให้บริการโอนเงินข้ามชาติ เชื่อว่าไม่เกิน 3 ปีหลังจากการเปิดตัว Libra ธุรกิจประเภทนี้จะต้องล้มหายตายไปอย่างแน่นอน ส่วนในระยะปานกลาง จะทำให้ระบบการชำระเงินเติบโตขึ้นอย่างมาก จากเดิมที่โลกการค้าวันนี้ มีระบบโลจิสติกส์ที่สะดวกและไปได้ในทุกที่ทั่วโลก แต่การชำระเงินยังตามไม่ทัน แต่การมี Libra เชื่อว่าปัญหาดังกล่าวจะหมดไป และทำให้ธุรกิจการค้าออนไลน์ (อีคอมเมิร์ช) เติบโตอย่างก้าวกระโดดทีเดียว สำหรับในระยะยาวนั้น จะก่อเกิดภาวะการซื้อขายสินค้าและโอนเงินข้ามชาติที่สะดวก ง่าย รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัย ซึ่งนั่นจะเป็นอันตรายต่อภาคธุรกิจและสถาบันการเงิน (ธนาคารพาณิชย์) ที่ไม่ปรับตัว โดยเฉพาะธนาคารกลางของหลายๆ ประเทศ
ด้วยเหตุผลที่ว่า โลกในปัจจุบันมีระบบการเงิน 2 รูปแบบที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่พร้อมกัน ในเวลาเดียวกัน คือ1.ระบบการเงินแบบเก่า ที่มีรัฐบาลคอยควบคุม และบริหารจัดการโดยธนาคารพาณิชย์ กับ 2.ระบบการเงินแบบใหม่ ที่เอกชนซึ่งเป็นใครที่ไหนก็ไม่รู้? เป็นคนควบคุม ผ่านการออกเหรียญสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า “บล็อกเชน” มาทำหน้าที่ในการบริหารจัดการแทน ซึ่งระบบใหม่ มีต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำกว่า สะดวก ง่าย รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัยกว่าระบบเก่า
ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่องค์กรในระบบเก่าและระบบใหม่ พยายามจะเชื่อมโยงการดำเนินงานให้เข้ากับอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งก็ต้องรอดูว่าผลมันจะเป็นเช่นใด ส่วนตัวในฐานะนักวิชาการ คงพูดในลักษณะฟันธงไม่ได้ว่าที่สุดแล้วเหรียญ Libra จะเกิดขึ้นมาในโลกใบนี้ได้หรือไม่? แต่หากมันเกิดขึ้นมาจริง ก็เป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน จำต้องศึกษา เตรียมการและหาทางรับมือกับปราฏการณ์ของเหรียญ Libra ตั้งแต่บัดนี้ เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์ที่สุด!.