คปภ.เร่งประกันฯ ข้าวจ่อประกันทุเรียนภูเขาไฟ
คปภ.เร่งเครื่องชวนเกษตรกรทำ “ประกันภัยข้าวนาปี” โค้งสุดท้าย ก่อนปิดจ๊อบ 30 มิ.ย.นี้ พร้อมเดินหน้าเซ็น MOU กับหอการค้าฯอุบลราชธานี หวั้งสร้างเครือข่ายความรู้ ด้านประกันภัยแก่ภาคธุรกิจและเกษตรกรรม เผยจ่อออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟ
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. ได้เลือก จ.อุบลราชธานีเป็น 1 ใน 10 จ.ของการจัดโครงการอบรมความรู้ประกันภัย “Training for the Trainers” สำหรับการประกันภัย ข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปีนี้ ระหว่างวันที่ 18-19 มิ.ย. นับเป็นครั้งที่ 8 ของการจัดอบรมตามโครงการนี้
ทั้งนี้ เพราะ จ.อุบลราชธานี มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก และส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ อาทิ การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีและการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน การส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเกษตรเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน การส่งเสริมและพัฒนาการผลิตพืชเศรษฐกิจ รวมไปถึงการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวคุณภาพที่ได้มาตรฐาน จึงเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญและมีชื่อเสียงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
จากข้อมูลพบว่า ปี 2561 จ.อุบลราชธานีมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปี 3.67 ล้านไร่ (ติดอันดับ 1 ของประเทศ) และมีการทำประกันภัยข้าวนาปี 1.57 ล้านไร่ คิดเป็น 42.89% (ติดอันดับที่ 3) ซึ่ง สำนักงาน คปภ. มีความคาดหวังว่าปีนี้ จ.แห่งนี้ จะขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ที่มีการทำประกันภัยข้าวนาปี นอกจากนี้ จ.อุบลราชธานียังมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในฤดูแล้ง (รอบที่2) อีก 12,302 ไร่ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายจากภัยน้ำท่วม จึงต้องให้ความรู้ด้านประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พร้อมทั้งผลักดันให้นำระบบประกันภัยเข้ามาเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ
โดยมอบหมายให้ นายชนะพล มหาวงษ์ รองเลขาธิการด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ พร้อมด้วยคณะวิทยากร เจ้าหน้าที่สำนักงาน คปภ. ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ลงพื้นที่พบปะเกษตรกร 250 ราย ณ ศาลาปฏิบัติธรรมวัดทุ่งศรีวิไล บ้านชีทวน ต.ชีทวน อ.เขื่องใน เพื่อรับฟังสภาพปัญหา อุปสรรค ข้อคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะของการทำประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเกษตรกรได้สะท้อนสภาพปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ซึ่งปัญหาทั้งหมดได้รับการชี้แจงและแนะนำ โดยคณะวิทยากรจากสำนักงาน คปภ. เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. และผู้แทนจากสมาคมประกันวินาศภัยไทย รวมทั้ง ได้รวบรวมข้อมูลการลงพื้นที่พบปะเกษตรกรในครั้งนี้เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการรับประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ดียิ่งขึ้นในปีต่อๆ ไป
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยเรื่องการบูรณาการส่งเสริมความรู้และสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย กับหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี โดยมุ่งเน้นส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ประกอบการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมได้รับความรู้ด้านการประกันภัย ตลอดจนเป็นเครือข่ายถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านประกันภัยไปสู่เกษตรกรและภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่อย่างครบวงจร นอกจากนี้ ยังเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนภูเขาไฟ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงและเป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำสวนทุเรียนภูเขาไฟอีกด้วย
จากนั้น ได้จัดโครงการอบรมความรู้ประกันภัยฯ โดย เลขาธิการ คปภ. ย้ำว่า จากการลงพื้นที่เพื่อรับฟังสภาพปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ของเกษตรกรจังหวัดอุบลราชธานีในครั้งนี้ ถือเป็นการตะลุยลงพื้นที่โค้งสุดท้าย เพื่อกระตุ้นชาวนาในพื้นที่ภาคอีสานเร่งทำประกันภัยข้าวนาปีก่อนวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายในการรับทำประกันภัยข้าวนาปีในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน
รวมทั้งรับฟังสภาพปัญหาและให้ความรู้ด้านประกันภัยแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ซึ่งในปีนี้การทำประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีความโดดเด่นและแตกต่างจากปีก่อนๆ 3 ประการ คือ ประการแรก รูปแบบการทำประกันภัยปีนี้รัฐบาลมีหลักการให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย โดยสามารถซื้อหรือทำประกันภัยเพิ่ม เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองมากขึ้น ประการที่สอง มีการเพิ่มความคุ้มครอง “ภัยช้างป่า” เข้ามาอีก 1 ภัย ทำให้สามารถคุ้มครองความเสี่ยงภัยกับเกษตรกรได้ถึง 8 ประเภท จากเดิมที่ครอบคลุมภัยจากน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยแมลงศัตรูพืชหรือโรคระบาด
ประการที่สาม มีการกำหนดอัตราค่าเบี้ยประกันภัยข้าวนาปีอยู่ที่ 85 บาทต่อไร่ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศโดยรัฐบาลอุดหนุน 51 บาทต่อไร่ และธ.ก.ส. อุดหนุน 34 บาทต่อไร่ ได้รับความคุ้มครองอยู่ที่ 1,260 บาทต่อไร่ ซึ่งเกษตรกรที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. ไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยแม้แต่บาทเดียว หากเป็นเกษตรกรทั่วไปที่ไม่ใช่ลูกค้า ธ.ส.ก. จะได้รับการสนับสนุนเบี้ยประกันภัยจากรัฐบาล 51 บาทต่อไร่ โดยเกษตรกรทั่วไปจ่ายส่วนต่างที่เหลือเองแค่ 34 บาทต่อไร่เท่านั้น
ในส่วนของการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562 มีอัตราค่าเบี้ยประกันภัย 59 บาทต่อไร่ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยรัฐบาลอุดหนุน 35 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส. อุดหนุน 24 บาทต่อไร่ ได้รับความคุ้มครองอยู่ที่ 1,500 บาท ซึ่งเกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยแม้แต่บาทเดียว หากเป็นเกษตรกรทั่วไปที่ ไม่ใช่ลูกค้า ธ.ส.ก. จะได้รับการสนับสนุนเบี้ยประกันภัยจากรัฐบาล 35 บาทต่อไร่ โดยเกษตรกรทั่วไปจ่ายส่วนต่างที่เหลือเองแค่ 24 บาทต่อไร่
“อยากเชิญชวนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีเร่งขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อได้รับสิทธิ์ทำประกันภัยข้าวนาปี ประจำปีนี้ ได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 30 มิ.ย.นี้ (ยกเว้นภาคใต้ถึง 15 ธ.ค.62) ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในรอบที่ 2 สามารถขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อได้รับสิทธิ์ทำประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.62 ถึง 15 ม.ค.63 และหากต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับการประกันภัยข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สามารถดาวน์โหลดข้อมูลได้ที่แอพพลิเคชั่น “กูรูประกันข้าว” หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. ย้ำ.