สศอ.ชี้แนวทางยกระดับอุตฯ 4.0 ในอาเซียน
สศอ. จัดทำแนวทางปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ทั้งแผนการระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว โดยเตรียมเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนปลายปีนี้
นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ. ได้เตรียมการจัดงานประชุมนานาชาติ (Symposium) เรื่อง การปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 และการปรับตัวของผู้ประกอบการ และกำลังคนในภาคอุตสาหกรรม ในการรับมือ และใช้ประโยชน์จากกระแสการเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 หรือ Fourth Industrial Revolution (4IR) โดยข้อสรุปที่ได้จากการประชุมครั้งจะเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารผลลัพธ์สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียนในปลายปีนี้
ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สศอ. ได้ผลักดันข้อริเริ่มเพื่อดำเนินการให้เกิดผลลัพธ์ในอาเซียน คือ การปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 (ASEAN Industrial Transformation to Industry 4.0) โดยจากผลการประเมินความพร้อมของอาเซียนต่อการเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (Assessment of ASEAN for the Forth Industrial Revolution or 4IR) ซึ่งจัดทำโดยสำนักเลขาธิการอาเซียน ตามวิสัยทัศน์ของที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 30 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2560 พบว่าอาเซียนจำเป็นต้องเตรียมพร้อมในการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของ 4IR อย่างเต็มที่ในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และส่งเสริมการเติบโตอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมในการพัฒนาเศรษฐกิจ
รวมทั้งรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และความมั่นคง โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนทักษะกำลังคนภาคอุตสาหกรรม (Re-Skilled or Up-Skilled) ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัลในยุค 4IR เพื่อยกระดับการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตของอาเซียน ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม และรายย่อย (Micro Small and Medium Enterprises: MSMEs) และผู้ประกอบการ Startup ไปสู่ระดับโลก
สศอ. ได้กำหนดแผนการดำเนินงานในการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ประกอบด้วย
1. แผนการระยะเร่งด่วน คือ การจัดทำปฏิญญาอาเซียน (ASEAN Declaration) เพื่อประกาศเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกอาเซียนในการปรับเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดย สศอ. ได้กำหนดจัดการประชุมนานาชาติ (Symposium) ในวันที่ 20 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมโซฟิเทล สุขุมวิท กรุงเทพฯ เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ และการระดมความคิดเห็น รวมทั้งข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดแผนที่นำทาง (Roadmap) เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนในการก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 รวมทั้งใช้ประโยชน์จากอุตสาหกรรม 4.0 ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนกำหนดแนวทางในการพัฒนากำลังคนรองรับการเติบโตของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro Small and Medium Enterprises: MSMEs) และผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการเติบโตแบบก้าวกระโดด (Startup) โดย สศอ. จะนำผลที่ได้จากการจัดประชุม Symposium มาปรับปรุงร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรรม 4.0 และนำเสนอต่อที่ประชุมผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ในช่วงปลายปีนี้
- ในระยะกลางถึงระยะยาว ไทยจะผลักดันให้มีการดำเนินการตามแผนที่นำทาง (Roadmap) และการจัดทำแผนปฏิบัติการ ASEAN Industrial Transformation to Industry 4.0 (AIT) 2020-2024 รวมทั้งการจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ทั้งในระดับคณะทำงาน (Working Group) ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officer) และระดับรัฐมนตรี (Minister) เพื่อบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ในการขับเคลื่อนการดำเนินการด้านอุตสาหกรรม 4.0 และประเด็นคาบเกี่ยว รวมทั้ง ติดตาม ประเมินผล และปรับปรุงแผนการดำเนินงานให้ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและทันการณ์
ทั้งนี้ ในการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของประเทศสมาชิกอาเซียนในการพัฒนาปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การเชื่อมโยงเครือข่ายการสื่อสาร และการคมนาคม ให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ การปรับปรุงระเบียบ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอาเซียน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้กับบริการสาธารณะ (Public services) และการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อเชื่อมโยงการให้บริการ การส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเริ่มต้นจากการสร้างการรับรู้ การระบุความท้าทาย
ตลอดจนโอกาสที่เกิดขึ้นจาก 4IR โดยส่งเสริมให้เกิดการร่วมลงทุนระหว่างกัน การระบุทักษะที่จำเป็นในการพัฒนาทักษะกำลังคนให้ก้าวทันเทคโนโลยี การพัฒนาระบบการศึกษา โดยใช้ความต้องการของตลาดเป็นตัวนำ การเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน ด้วยการแบ่งปันประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ ตลอดจนการบูรณาการแผนงานต่าง ๆ ระหว่างกัน รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน และองค์กรสากล อันจะช่วยเสริมสร้างการเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน และเสริมสร้างประโยชน์ให้กับภูมิภาคอาเซียนยิ่งขึ้น