พาณิชย์ลดเป้าเงินทั้งปีเหลือ 0%
กระทรวงพาณิชย์ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปีนี้ อยู่ที่ 0-1% จากเดิมที่ 1-2% หลังประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.พ.ติดลบ 0.50% ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 แจงราคาน้ำมันร่วงกดดันอย่างหนัก แต่เมื่อเทียบกับเดือนม.ค.เงินเฟ้อสูงขึ้นเล็กน้อย 0.15% เนื่องจากรัฐบาลประกาศขึ้นอัตราภาษีบุหรี่ ส่งผลให้ราคาบุหรี่ใหม่ตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ.พุ่งขึ้นซองละ 5-25 บาท
“ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนก.พ.59 ว่าเท่ากับ 105.62 เมื่อเทียบกับเดือนม.ค.59 เพิ่มขึ้น 0.15% และเมื่อเทียบกับเดือนก.พ.58 ลดลง 0.50% ซึ่งเป็นการขยายตัวติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 นับจากเดือนม.ค.58 และเมื่อเทียบเฉลี่ย 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) ของปี 59 กับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง 0.52%”
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า แถลงข่าว “ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือนก.พ.2559” เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา
สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ที่หักราคาอาหารสด และพลังงานออกจากการคำนวณ เดือนก.พ.59 เท่ากับ 105.65 เมื่อเทียบกับเดือนม.ค.59 สูงขึ้น 0.18% เทียบกับเดือนก.พ.58 สูงขึ้น 0.68% และเฉลี่ย 2 เดือน สูงขึ้น 0.63%
“สาเหตุที่เงินเฟ้อยังติดลบในเดือนก.พ. เนื่องจากน้ำมันเป็นสาเหตุหลัก ทำให้กลุ่มการขนส่งและค่าโดยสาร ทั้งรถ บขส. และรถร่วมเอกชนลดลง และยังได้ผลดีจากค่ากระแสไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ที่ลดลง แม้ว่าเดือนนี้ จะมีแรงกดดันจากการขึ้นราคาของสินค้ากลุ่มอาหารสด ทั้งผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ ในช่วงเทศกาลตรุษจีน รวมถึงการขึ้นราคาของบุหรี่” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวและกล่าวว่า
“เงินเฟ้อปรับขึ้น 0.15% เมื่อเทียบเดือนม.ค.59 เพราะรัฐบาลได้ประกาศปรับขึ้นอัตราค่าแสตมป์ยาสูบตามมูลค่า ตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ.59 ส่งผลให้ราคาบุหรี่ในประเทศปรับเพิ่มขึ้นซองละ 5-25 บาทหรือปรับขึ้น 18.94% และส่งผลให้ดัชนีหมวดยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปรับขึ้น 8.79% ขณะที่ราคาอาหารสด ทั้งผักสด ผลไม้ เครื่องประกอบอาหาร อาหารบริโภคทั้งในบ้าน และนอกบ้าน ปรับขึ้นหมด”
สำหรับรายละเอียดเงินเฟ้อเดือนก.พ.59 ที่ลดลง 0.50% เป็นผลมาจากดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 1.45% โดยสินค้าสำคัญที่ลดลง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ลด 18.35% เคหสถาน ลด 0.41% การสื่อสาร ลด 0.03% แต่เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เพิ่ม 0.46% การรักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่ม 0.92% บันเทิงการอ่านและการศึกษา เพิ่ม 1.15% ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 10.73%
ส่วนดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น 1.26% โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น ผักสด เพิ่ม 8.51% ผลไม้สด เพิ่ม 2.40% เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ เพิ่ม 1.52% ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 0.76% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 0.55% นอกบ้าน เพิ่ม 0.76% แต่ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลด 0.21%เครื่องประกอบอาหาร ลด 0.50%
โดยในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา มีสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น 156 รายการ เช่น ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร ไข่ไก่ ผ้าอนามัย ผงซักฟอก รถยนต์และบุหรี่ ขณะที่สินค้าอีก 105 รายการมีราคาลดลง เช่น นมสด ไก่สด กาแฟผงสำเร็จรูป ค่าโดยสารนอกท้องถิ่น และก๊าซหุงต้ม
นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ ได้ประมาณการอัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 59 ใหม่ เป็นเหลือขยายตัวเพียง 0.0-1.0% จากเดิมคาดขยายตัว 1.0-2.0% เพราะหลายหน่วยงานด้านเศรษฐกิจได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือเพียง 2.8-3.8% จากเดิม 3.0-4.0% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี อยู่ที่ 30-40 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล จากเดิม 48-54 เหรียญฯ/บาร์เรล แต่อัตราแลกเปลี่ยนยังคงเดิมที่ 33-38 บาท/เหรียญฯ
นับจากนี้ไป เงินเฟ้อจะยังขยายตัวติดลบ แต่จะติดลบในอัตราที่ลดลงเรื่อยๆ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเงินเฟ้อน่าจะติดลบไปจนถึงช่วงกลางปี จากนั้นจะค่อยเป็นบวก แต่อาจจะไม่มากนัก แต่ยังต้องจับตาภัยแล้ง ถ้ารุนแรง และผลิตสินค้าเกษตรเสียหายจำนวนมาก จนราคาสูงขึ้น ก็อาจทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้อีก.