คุ้มครองเงินฝากเหลือ1ล้านบาท
นับตั้งแต่ประเทศไทยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี2540 จนถึงขั้นนำไปสู่การสั่งปิดสถาบันการเงินหลายแห่งในเวลาพร้อมๆ กัน จนส่งผลกระทบต่อผู้ฝากเงินเป็นวงกว้างทั้งที่ความจริงแล้ว ผู้ฝากเงินเหล่านี้ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับการสั่นคลอนของเศรษฐกิจในยุคฟองสบู่แตก แต่ต้องการรับชะตากรรมเช่นเดียวกับเจ้าของสถาบันการเงินที่ถูกสั่งปิด
ทั้งหมดนี้ คือสาเหตุที่นำไปสู่การจัดตั้ง “สถาบันคุ้มครองเงินฝาก” หรือ สคฝ. ที่จะเข้ามาดูแลและรับผิดชอบเงินฝากของประชาชน เพื่อเป็นการการันตีว่าเงินฝากก้อนสุดท้ายของชีวิตไม่ว่าจะอยู่กับสถาบันการเงินใดประเทศไทยหากมีอันเป็นไปจนถึงขั้นต้องปิดสถาบันการเงิน ผู้ที่ฝากเงินเหล่านี้ จะยังได้รับการดูแล ซึ่งล่าสุด สคฝ.ได้ประกาศลดความคุ้มครองเงินฝากลงเหลือไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อบัญชีต่อราย ในวันที่ 11 ส.ค.นี้ จากเดิมที่เคยคุ้มครองถึง 100% และลดลงเหลือ 25 ล้านบาท
“ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.59 เป็นต้นไป การคุ้มครองเงินฝากของประชาชนจะลดระดับจาก 25 ล้านบาทต่อราย ลงมาเหลือ 1 ล้านบาทต่อราย ตามที่กฎหมายกำหนด”
นายสรสิทธิ์ สุนทรเทศ กรรมการและเลขานุการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) กล่าวและกล่าวว่า การลดความคุ้มครองลงดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ฝากเงินอย่างแน่นอน เพราะจากสถิติระบุว่า จำนวนผู้ถือบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงินมีทั้งหมด 69 ล้านบาท ในจำนวนนี้ มีเงินฝากต่ำกว่า 1 ล้านบาท มากถึง 98% จากจำนวนเงินฝากทั้งหมด 12 ล้านล้านบาท
ส่วนที่เหลืออีก 1-2% เป็นเงินฝากของรายใหญ่ ซึ่งขณะนี้ คนรวยที่มีเงินฝากเกินกว่า 1 ล้านบาท มีความรู้และความเข้าใจทางด้านการลงทุนมากขึ้น ทำให้ความเสี่ยงจากการนำเงินไปฝากเงินเพียงอย่างเดียวลดลง และหากรวยเหล่านี้ ไม่รู้ว่าจะนำเงินไปลงทุนที่ใด สคฝ.ก็ยังให้การคุ้มครองเงินฝากบัญชีละ 1 ล้านบาทต่อราย จากจำนวนสถาบันเงินทั้งหมด 36 แห่ง หรือเท่ากับ 36 ล้านบาท
นายสรสิทธิ์ กล่าวและอธิบายเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ผ่านมา เราได้ทำความเข้าใจกับสถาบันการเงินและผู้ฝากเงินรายใหญ่เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจในการเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้อย่างต่อเนื่อง จึงคาดหวังว่า หลังจากที่วันที่ 11 ส.ค.59 ไปแล้ว จะไม่เกิดปัญหาเรื่องการย้ายเงินฝากของสถาบัน เพราะผู้ฝากเงินในปัจจุบันนอกจากจะมีความรู้และความเข้าใจเรื่องการลงทุนอย่างดีแล้ว ตัวสถาบันการเงินเองก็มีบริการลูกค้ารายใหญ่ ทำให้คนรวยมีช่องทางในการลงทุนเพิ่มมากขึ้นเช่น หุ้น ตราสารหนี้และทองคำ
ขณะที่ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ประธานกรรมการ สคฝ. กล่าวว่า สถาบันการเงินไทยในปัจจุบันมีความแข็งแรงมากกว่าในอดีต นับตั้งแต่เราเกิดฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540 โดยเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินในปี 2558 อยู่ในเกณฑ์ดี และยังสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 สถาบันการเงินมีกำไรสุทธิ 193,000 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) เพิ่มขึ้นเป็น 17.45% จาก 16.83% ในปีก่อน
ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier-1 Ratio) เพิ่มขึ้นเป็น 14.60% จาก 13.75% ในปีก่อน และเงินกองทุนชั้นที่ 2 (Tier-2 Ratio) ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อยเป็น 2.87% จากการทยอยลดการนับเข้าเป็นเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย
ด้านสภาพคล่องระบบสถาบันการเงินมีอัตราสภาพคล่อง 24.67% สูงกว่าอัตรา 6% ที่กฎหมายกำหนดและสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.56% จาก 2.16% ในปีก่อน ทำให้สถาบันการเงินมีความแข็ง แกร่งอย่างมาก
“กองทุนคุ้มครองเงินฝาก ณ สิ้นปี 2558 มีจำนวน 113,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 จำนวน 3,604 ล้านบาท โดยในปี 2558 ได้รับเงินนำส่งจากสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองทั้งสิ้น (อัตรา 0.01% ต่อปีของยอดเงินฝาก) หรือประมาณปีละ 1,155 ล้านบาท และหากกองทุนมีเงินแตะระดับ 200,000 ล้านบาท ก็อาจจะต้องมานั่งทบทวนว่า เม็ดเงินดังกล่าวเพียงพอต่อการดูแลเงินฝากของประชาชนแล้วหรือยัง“ ประธานกรรมการ สคฝ.กล่าวในที่สุด.