ส่งออกอาหารพุ่งเป้าลุย CLMV
ส่งออกอาหารไปตลาด CLMV สดใส ช่วง 5 ปีเติบโตเฉลี่ยปีละเกือบ 16% ปีที่ผ่านมาโกย 1.2 แสนล้านบาท สถาบันอาหารเชียร์เอสเอ็มอีกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารบุกหนัก แนะมือใหม่เจาะตลาดตามแนวชายแดน ก่อนรุกทำเข้าตลาดในเมืองหลัก
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยตลาดข้อมูลส่งออกอาหารของไทยไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา, เวียดนาม) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีอัตราเติบโตเฉลี่ยถึง 15.94% ต่อปี ขณะที่มูลค่าส่งออกอาหารไปอาเซียนเฉลี่ยมีอัตราขยายตัวเพียง 9.19% ต่อปี โดยปี 2558 ที่ผ่านมา มูลค่าส่งออกอาหารไปตลาดอาเซียนเท่ากับ 231,433.17 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 25.65% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ส่วนมูลค่าส่งออกอาหารไป CLMV ในปี 2558 เท่ากับ 122,947.5 ล้านบาท มีอัตราขยายตัวจากปีก่อนหน้าถึง 16.92% ทั้งนี้เมียนมาเป็นประเทศที่ไทยส่งออกในสัดส่วนมากที่สุดราว 32% รองลงมาคือ เวียดนาม 31.5% กัมพูชา 20.5% และสปป.ลาว 16% โดยพบว่าสัดส่วนของมูลค่าส่งออกอาหารไปยัง CLMV มีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับภาพรวมการส่งออกไปอาเซียน กล่าวคือ ปี 2554 มูลค่าส่งออกอาหารไป CLMV คิดเป็น 38% ของมูลค่าส่งออกอาหารไปอาเซียนทั้งหมด และในปี 2558 สัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 53% แสดงให้เห็นว่า CLMV คือตลาดอาเซียนใหม่ที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะสำหรับเอสเอ็มอีกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร
“ในปี 2558 สินค้าอาหารแปรรูปในหมวดเครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์นมของไทยมีกลุ่มประเทศ CLMV เป็นตลาดส่งออกหลัก ส่วนน้ำผักผลไม้ก็เป็นสินค้าที่มีการขยายตัวได้ดี คาดว่าในปี 2559 จะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และมีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ดีมีคุณค่าทางโภชนาการ เนื่องจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวจากการค้า และการลงทุน”
นายยงวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลของ IMF ที่ประเมินภาวะเศรษฐกิจของประเทศ CLMV พบว่าในปี 2559 นี้อัตราขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเบื้องต้นของทั้งกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศไทย โดยกัมพูชา และ สปป.ลาว เศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2558 อยู่ที่ 7.1% และ 7.9% ตามลำดับ ส่วนเมียนมาอัตราเติบโตของเศรษฐกิจขยายตัวใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แต่ถือว่าอยู่ในระดับสูง คือ 8.3% ขณะที่เวียดนามจะมีอัตราเติบโต 6.4% ส่วนไทยคาดว่าจะเติบโตเพียง 3.2% และเมื่อพิจารณากำลังซื้อของผู้บริโภคก็พบว่า ทั้ง CLMV ผู้บริโภคมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามทิศทางเศรษฐกิจที่เติบโต ทำให้เกิดการจ้างงาน และมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยผู้บริโภคกัมพูชามีอำนาจซื้อเฉลี่ยต่อคนต่ำที่สุด ขณะที่ผู้บริโภคสปป.ลาว และเมียนมามีกำลังซื้อเฉลี่ยต่อคนใกล้เคียงกัน ส่วนเวียดนามมีอำนาจซื้อเฉลี่ยต่อคนสูงที่สุดใน 4 ประเทศ
อย่างไรก็ดีสถาบันอาหารได้ทำการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคใน CLMV เกี่ยวกับการบริโภคอาหารแปรรูป พบว่า กัมพูชา ชาวกัมพูชามักจะทำอาหารด้วยตนเองเป็นประจำทุกวัน คิดเป็น 35.2% โดยในปัจจุบันพฤติกรรมการรับประทานอาหารสำเร็จรูปประเภทต่างๆ ยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายมากนัก เช่นเดียวกับ สปป.ลาว กลุ่มตัวอย่าง 97.0% มีพฤติกรรมการปรุงอาหารรับประทานเองที่บ้าน มีความถี่ในการรับประทานบะหมี่/ก๋วยเตี๋ยวกึ่งสำเร็จรูป และอาหารสำเร็จรูปแช่เย็นแช่แข็ง 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนอาหารแปรรูปกระป๋องมีความถี่ในการรับประทาน 1-2 ครั้งต่อเดือนมากที่สุด 90% เลือกบริโภคเครื่องดื่มสำเร็จรูปได้แก่ (1) เครื่องดื่มจำพวกน้ำผลไม้พร้อมดื่ม (2) เครื่องดื่มจำพวก ชา กาแฟ น้ำปั่น (3) นมพร้อมดื่ม นมเปรี้ยว โยเกิร์ต โดยมีความถี่ในการบริโภค 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์เท่ากันทุกชนิดมากที่สุด
สำหรับเมียนมา กลุ่มตัวอย่างบริโภคอาหารแปรรูป (1) ขนมขบเคี้ยวประเภทถั่วและธัญพืช คิดเป็น 87.0% ด้วยความถี่ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ (2) ขนมขบเคี้ยวประเภทขนมปังกรอบ เคยทานคิดเป็น 78.7% ด้วยความถี่ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ (3) ขนมหวานจำพวกวุ้น เยลลี่ เคยทานคิดเป็น 62.0% ด้วยความถี่ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ (4) หมูยอ กุนเชียง หมูหยอง แหนม เคยทานคิดเป็น 59.7% ด้วยความถี่ 1 ครั้งต่อเดือน (5) ผักผลไม้แปรรูป : ดอง แช่อิ่ม อบแห้ง เคยทานคิดเป็น 40.0% ด้วยความถี่ 1 ครั้งต่อเดือน (6) อาหารแปรรูปไขมันและแป้งน้อย เคยทานคิดเป็น 34.3% ด้วยความถี่ประมาณ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ (7) อาหารแปรรูปแช่เย็นแช่แข็งนั้นผู้บริโภคชาวเมียนมาไม่เคยบริโภคมากถึง 95.0% และอาหารแปรรูปกระป๋องนั้น โดยรวมแล้วเคยรับประทานอยู่ที่ 74.0% มีความถี่ 1 ครั้งต่อเดือนมากที่สุด
ด้านเวียดนาม ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการปรุงอาหารรับประทานเองที่บ้านมากถึง 98.0% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด มีความถี่ในการรับประทานบะหมี่/ก๋วยเตี๋ยวกึ่งสำเร็จรูป 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนอาหารแปรรูปแช่เย็นแช่แข็ง และอาหารแปรรูปกระป๋องมีความถี่ในการรับประทาน 1-2 ครั้งเดือนมากที่สุด โดยชาวโฮจิมินห์ส่วนใหญ่นิยมรับประทานบะหมี่/ก๋วยเตี๋ยวกึ่งสำเร็จรูป อาหารแปรรูปแช่เย็นแช่แข็ง และอาหารกระป๋องมากกว่าชาวฮานอย กลุ่มตัวอย่างมากกว่า 90% เลือกบริโภคเครื่องดื่มสำเร็จรูป ได้แก่ (1) เครื่องดื่มจำพวกน้ำผลไม้พร้อมดื่ม (2) เครื่องดื่มจำพวก ชา กาแฟ น้ำปั่น (3) นมพร้อมดื่ม นมเปรี้ยว โยเกิร์ต โดยมีความถี่ในการบริโภค 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์
นายยงวุฒิ กล่าวว่า “จากสภาพเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนา มีร้านค้าสมัยใหม่เกิดขึ้นมาก ศักยภาพของตลาดที่ขยายตัวเนื่องจากการลงทุน และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในเมืองสำคัญ แนวโน้มตลาดอาหารแปรรูปยังมีโอกาสให้ขยายตัวได้อีกมาก ผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ ได้ง่าย นอกจากนี้ภาพลักษณ์ของอาหารไทยที่แข็งแรงด้านคุณภาพ และมาตรฐานสินค้า จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยยังมีอนาคตสดใสในตลาด CLMV สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอีที่ยังไม่มีประสบการณ์ แต่มีความสนใจส่งออกสินค้าอาหารแปรรูปเข้าสู่ตลาด CLMV ควรเจาะตลาดตามแนวชายแดนก่อน เมื่อมีแนวโน้มดีจึงค่อยรุกเข้าสู่ตลาดในเมืองหลักตามลำดับ เพื่อลดความเสี่ยง หรืออาจเริ่มต้นจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้ากับหน่วยงานภาครัฐของไทย และรับคำแนะนำจากทูตพาณิชย์ของไทยประจำประเทศต่างๆ”