แก้เกม โซลาร์ภาคประชาชน ค่าไฟถูก ไม่คุ้มทุน
รมว.พลังงาน ยอมรับ โครงการโซลาร์ภาคประชาชน ไม่เป็นดังฝัน ประชาชนไม่สนใจเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากราคารับซื้อไฟฟ้าถูกเกินไปไม่คุ้มทุน จับตา… โครงการนี้ จะไปรอดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ใหม่เป็นปัจจัยสำคัญ
หลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดลงทะเบียนให้ประชาชน เข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชนโดยได้เป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าในปีแรกจำนวน 100 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2562 และจาก ข้อมูล ของ กกพ.ได้เปิดเผย ยอดลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชน เมื่อ 18 ก.ค.62 มีจำนวน ทั้งสิ้น 2,244 ราย คิดเป็น 11,237 กิโลวัตต์
ทั้งนี้ได้ แบ่งเป็นการยื่นลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านโควต้า กฟน. จำนวน 411 ราย แบ่งเป็นนิติบุคคล 27 ราย และบุคคลธรรมดา 384 ราย รวม 2,072 กิโลวัตต์ และยื่นลงทะเบียนผ่าน กฟภ. อีก 1,833 ราย แบ่งเป็น บุคคลธรรมดา 1,734 ราย และนิติบุคคล 99 รายรวม 9,165 กิโลวัตต์
จะเห็นได้ชัดว่า จากตัวเลขผู้ลงทะเทียบเข้าร่วมโครงการ ห่างเป้าหมายที่กำหนดไว้มาก สาเหตุสำคัญที่ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า มาจากการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าคืนในอัตรา 1.68 บาทต่อหน่วย นั้น ต่ำเกินไป รวมทั้งระยะเวลาที่รับซื้อกำหนดไว้ที่ 10 ปี น้อยเกินไป เนื่องจากมีการคำนวณแล้วว่าระยะเวลาดังกล่าวไม่คุ้นทุน
ซึ่ง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยอมรับว่า โครงการดังกล่าวที่นำร่องรับซื้อไฟฟ้า ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก เพราะยังขาดแรงจูงใจให้ประชาชนติดตั้ง เนื่องจากไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และในทั้งปีนี้การรับซื้อไฟฟ้า โครงการโซลาร์ภาคประชาชน คงไม่ถึงเป้าหมาย 100 เมกะวัตต์
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ต้องมาทบทวน ในเรื่องของ ความคุ้มทุน การติดตั้งแล้วจะเก็บและขายได้อย่างไร เรื่องของระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) การซื้อขายกันเองผ่านบล็อกเชน ราคารับซื้อโซลาร์ภาคประชาชนที่ไม่เกิน 1.68 บาทต่อหน่วยระยะ 10 ปีนั้นก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่อาจจะต้องมาทบทวนเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา นายสนธิรัตน์ ได้มอบหมายให้ กกพ.เร่งหามาตรการกระตุ้นเพื่อให้โครงการโซลาร์ภาคประชาชนเป็นไปตามเป้าหมาย โดยเบื้องต้นแบ่ง เป็น 2 แนวทางคือ แนวทางที่1 การปรับเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า จากปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 1.68 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี
ส่วนแนวทางที่ 2 คือ การปรับกลุ่มเป้าหมาย โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม สามารถเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชนได้ ซึ่งหากแนวทางที่ 2 เป็นจริง ภาคเอกชน อีกจำนวนมาก ก็จะลงมาเล่น แย่งชิงส่วนต่างค่าไฟ โครงการโซลาร์ภาคประชาชน ก็จะไม่ใช่โครงการเพื่อประชาชนอีกต่อไป