ภัยแล้งถล่มชาวนาสูญเงิน 8.4 หมื่นล้าน
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ระบุภัยแล้งต่อเนื่องข้ามปี กระทบ 3 ฤดูกาลผลิตข้าว ภาคเหนือ และภาคกลางเสียหายกว่าพื้นที่อื่นๆ แนะส่งเสริมปลูกพืชอื่นแก้แล้งได้ประโยชน์ในระยะยาว
ปรากฏการณ์เอลนิโญ่ยังส่งผลกระทบกับปริมาณฝนในไทยตั้งแต่ปี 2557 และเห็นผลกระทบอย่างชัดเจนในปี 2558 ในช่วงฤดูฝนทำให้ชาวนาต้องเลื่อนการปลูกข้าวนาปีออกไป และไม่สามารถปลูกข้าวได้ในอีกหลายพื้นที่ และปรากฎการณ์นี้ยังส่งผลต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ถือได้ว่าไทยได้รับผลกระทบจากภัยแล้งยาวนานต่อเนื่องถึง 3 ปี
ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ เกษตรกรชาวนา เนื่องจากภัยแล้งติดต่อกันกระทบผลผลิตข้าวลดลงแล้ว 3 ฤดูกาล คือ ข้าวนาปรัง 2557/58 ข้าวนาปี ปีการผลิต 2558 และ ข้าวนาปรัง 2558/59 โดยประเมินว่าผลผลิตลดลงรวม 10.02 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 84,228 หมื่นล้านบาท ซึ่งความเสียหายกว่า 50% เกิดกับผลผลิตข้าวนาปรังปี 2558/59(พ.ย. 2558-มี.ค. 2559)
ปริมาณฝนที่ลดลงต่อเนื่องทำให้ปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งอยู่ในภาคเหนือตอนล่าง และเป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับพื้นที่เพาะปลูกในภาคกลางมีปริมาณน้ำที่สามารถใช้การได้รวมเหลือเพียง 2,425 ล้าน ลบ.ม. ลดลงจากระดับ 4,810 ลบ.ม. ณ ช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน หรือลดลง 50.4% จึงถือได้ว่าปี 2559 เกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรุนแรงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี คาดว่า พื้นที่ปลูกข้าวในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ภาคเหนือ และภาคกลาง ได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือซี่งปลูกข้าวนาปีและอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก โดยภาคเหนือมีปริมาณผลผลิตข้าวลดลงมากที่สุด 4.5 ล้านตัน มูลค่า 3.69 หมื่นล้านบาท จังหวัดที่ได้รับผลกระทบสูงได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก ส่วนภาคกลางได้รับผลกระทบมาเป็นอันดับสอง คือผลผลิตข้าวลดลง 4.0 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 3.19 ล้านบาท จังหวัดที่ได้รับผลกระทบสูง คือ สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และชัยนาท เป็นต้น
ปริมาณข้าวที่ลดลง มูลค่า 8.4 หมื่นล้านบาท คือ เม็ดเงินที่หายจากระบบเศรษฐกิจของภูมิภาค ดังนั้น เศรษฐกิจในพื้นที่ดังกล่าวจึงได้รับผลกระทบต่อเนื่อง เพราะเกษตรกรชาวนา คือ กลุ่มผู้บริโภคที่สำคัญของเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งแน่นอนว่า กลุ่มสินค้าคงทนได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรก ได้แก่ ธุรกิจจำหน่ายรถจักรยานยนต์ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง สินค้าแฟชั่น ฯลฯ ในส่วนของธุรกิจ อาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าจำเป็น ได้รับผลกระทบน้อยกว่า เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นและราคาไม่สูงนัก
อีกด้านหนึ่ง ชาวนายังเป็นผู้ผลิตที่สำคัญของเศรษฐกิจในพื้นที่อีกด้วย เมื่อไม่สามารถเพาะปลูกได้ตามปกติ ธุรกิจปุ๋ย เคมีภัณฑ์การเกษตร อุปกรณ์และเครื่องจักรกลเกษตร โรงสีข้าว ฯลฯ ก็ย่อมมีรายได้ลดลงเช่นเดียวกัน ปีที่ผ่านมา ภาครัฐได้ดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง โดยส่วนหนึ่งเน้นเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวนาโดยตรง ซึ่งธุรกิจอุปโภคบริโภคในพื้นที่ก็จะได้รับอานิสงส์ไปด้วย แต่กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรไม่ได้อานิสงค์เหมือนธุรกิจกลุ่มแรก เนื่องจากเกษตรกรชาวนาไม่สามารถเพาะปลูกได้ตามปกติ
“มาตรการส่งเสริมการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจทนแล้ง” เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยบรรเทาผลกระทบจากปริมาณผลผลิตข้าวที่ลดลง และยังได้ประโยชน์ทางอ้อมต่อเศรษฐกิจไทย คือ ปรับโครงสร้างพืชเศรษฐกิจให้มีความสมดุลมากขึ้น ลดปริมาณการใช้น้ำในภาคการเกษตร และเกษตรกรชาวนามีทางเลือกในการเพาะปลูก ส่วนประโยชน์ต่อเศรษฐกิจภูมิภาค ธุรกิจในพื้นที่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคได้ประโยชน์จากกำลังซื้อของเกษตรกร และธุรกิจภาคการเกษตรที่จะขายปัจจัยการผลิตจากการเพาะปลูกพืชทดแทนข้าว เสมือนยิงปืนนัดเดียว ได้นกหลายตัว.