กรมศุลฯร่วมชาติพันธมิตรสร้าง ผปก. AEO
กรมศุลกากรเผยจับมือกรมศุลฯ “ฮ่องกง-เกาหลีใต้- สิงคโปร์” สร้างข้อตกลง MRA ภายใต้โครงการหนุนผู้ประกอบการเกรด AEO ลดความเสี่ยงนำเข้า-ส่งออกสินค้าอันตรายจากเหตุการณ์ 9/11 แลกกับการ “ลดตรวจเข้ม” สินค้านำเข้า หรือหากตรวจจะดำเนินการอย่างรวดเร็ว ระบุจ่อจับ “ญี่ปุ่น-มาเลย์-ออสเตรเลีย” เซ็นเป็นรายต่อ ก่อนจะปิดดีลช่วงแรกกับศุลกากรจีน
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร แถลงถึงความคืบหน้าของการจัดทำความตกลงยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangement: MRA) ภายใต้ โครงการ AEO ของกรมศุลกากร ว่า หลังโลกเกิดวิกฤติเหตุการณ์ก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 ก.ย.44 (เหตุการณ์ 9/11) ทำให้องค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization: WCO) ตระหนักถึงการรักษาความปลอดภัยในห่วงโซ่อุปทานการค้าระหว่างประเทศ โดยให้ความสำคัญในกระบวนการรักษาความปลอดภัยตั้งแต่ต้นทางของการขนส่ง จึงได้ส่งเสริมให้ศุลกากรประเทศสมาชิก จัดทำโครงการ Authorized Economic Operator (AEO) ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างศุลกากรกับภาคเอกชน ในการรักษาความปลอดภัยของห่วงโซ่อุปทานการค้าระหว่างประเทศ ผ่านกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยฯ โดยศุลกากร
ทั้งนี้ เมื่อผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบการระดับมาตรฐานเออีโอ จะได้รับสิทธิพิเศษตามที่ศุลกากรของแต่ละประเทศได้กำหนด 1.การลดอัตราการเปิดตรวจตู้สินค้า และ 2.กรณีที่จำเป็นจะต้องเปิดตู้สินค้า จะได้รับการตรวจเป็นลำดับแรกๆ เพื่อให้เสร็จสิ้นกระบวนก่อนผู้ประกอบการทั่วไป โดยที่ผ่านมา กรมศุลกากรได้ดำเนินโครงการผู้ประกอบการระดับมาตรฐานเออีโอ ตามกรอบมาตรฐาน WCO Safe Framework เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างศุลกากรกับภาคเอกชน ในการรักษาความปลอดภัยในห่วงโซ่อุปทานการค้าระหว่างประเทศ
โดยปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 2 ก.ย.62) ไทยมีผู้ประกอบการระดับมาตรฐานเออีโอรวม 370 ราย แยกเป็นกลุ่มผู้นำของเข้า/ส่งของ 189 ราย ที่เหลืออีก 181 รายเป็นตัวแทนออก (ชิปปิ้ง) ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการยอมรับและพัฒนามาตรฐานการดำเนินโครงการ AEO กรมศุลกากรได้พัฒนาโครงการไปสู่การจัดทำความตกลงยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangement: MRA) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างศุลกากรไทยกับศุลกากรต่างประเทศในการเสริมสร้างการรักษาความปลอดภัยของห่วงโซ่อุปทาน และอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงยอมรับมาตรฐานการดำเนินการโครงการเออีโอและแลกเปลี่ยนสิทธิพิเศษของผู้ประกอบการระดับมาตรฐานเออีโอระหว่างกัน
ทั้งนี้ ได้ออกประกาศกรมศุลกากร ที่ 165/2562 ลว. ลงวันที่ 16 ส.ค.62 เรื่อง การปฏิบัติพิธีการศุลกากรนำของเข้า ส่งของออกสำหรับโครงการผู้ประกอบการระดับมาตรฐานเออีโอ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.62 เป็นต้นไป และประกาศกรมศุลกากร ที่ 166/2562 ลว. 19 ส.ค.62 เรื่อง หน่วยงานศุลกากรคู่ความตกลงยอมรับร่วมกัน สำหรับโครงการผู้ประกอบการระดับมาตรฐานเออีโอ ซึ่งขณะนี้ กรมศุลกากรได้ลงนามในความตกลงยอมรับร่วมกันกับศุลกากรฮ่องกง เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ และอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงยอมรับร่วมกันกับศุลกากรต่างประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น รวมถึงจีนที่จะมีตามในหลังจากนี้
โดยประโยชน์ที่ผู้ประกอบการระดับมาตรฐานเออีโอจะได้รับจากความตกลงยอมรับร่วมกัน คือ การอำนวยความสะดวกทางด้านพิธีการศุลกากรจากศุลกากรประเทศที่ทำความตกลงยอมรับร่วมกันกับกรมศุลกากร เมื่อมีการส่งสินค้าออกไปยังประเทศดังกล่าว
“เอกชนที่อยู่ในระดับมาตรฐานเออีโอส่วนใหญ่เป็นบริษัทนำเข้าและส่งออกขนาดใหญ่ของไทย รองลงก็เป็นบริษัทขนาดกลาง จะมีขนาดเล็กบ้าง แต่ไม่มากนัก ซึ่งผู้ประกอบการระดับมาตรฐานเออีโอไทย จะได้รับการปฏิบัติจากศุลกากรของประเทศที่เรามีข้อตกลงระหว่างกัน เหมือนเช่นที่กรมศุลกากรไทยปฏิบัติกับผู้ประกอบการระดับมาตรฐานเออีโอจากประเทศเหล่านั้น” โฆษกกรมศุลกากร ย้ำ.