คลังผุดกองทุนบำนาญแห่งชาติ
กระทรวงการคลังฝันหวาน ตั้งกองทุนบำนาญแห่งชาติ บังคับแรงงานในระบบ 17 ล้านคนสมัครเข้าเป็นสมาชิก หวังลดภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐอีก 10 ปีข้างหน้า ใช้เงินดูแลผู้สูงอายุ 6 แสนล้านบาท
“ในสัปดาห์นี้ จะเสนอให้ รมว.คลัง ลงนามแต่ตั้งคณะกรรมการศึกษาการตั้งกองทุนบำนาญแห่งชาติ เพื่อให้กองทุนแห่งนี้ เข้ามาช่วยเหลือแรงงานในระบบที่อยู่ในวัยเกษียณ ซึ่งหากประเทศไทยไม่ทำอะไรในเรื่องนี้ อีก 10 ปีข้างหน้า เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กลุ่มคนเหล่านี้ จะกลายเป็นภาระในงบประมาณสูงถึง 600,000 ล้านบาท” ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว
เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา นายสมชัย สัจจงพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงเรื่องดังกล่าว และมั่นใจว่า สัปดาห์นี้ รมว.คลัง จะลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าว เพื่อจัดตั้งกองทุนบำนาญแห่งชาติ
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลใส่เงินอุดหนุนผู้สูงอายุปีละกว่า 200,000 ล้านบาท เกือบๆ 300,000 ล้านบาท ในเรื่องของการรักษาพยาบาล การให้เงินฟรีเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพเดือนละ 600 บาท เป็นต้น แต่ในอีก 10 ปีข้าง หน้า ตัวเลขจากการรวบรวมสถิติพบว่า จำนวนเม็ดเงินที่รัฐบาลต้องใส่ลงไปเพื่อช่วยผู้สูงอายุ จะพุ่งมากกว่า 1 เท่าตัว
“หน้าที่หลักของกระทรวงการคลังคือ การดูแลเรื่องวินัยการเงินการคลัง และการออมของประเทศ ในฐานะที่ผมเติบโตมาจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และดูแลฝ่ายวิชาการของกระทรวงการคลังมาโดยตลอดขอยืนยันว่า ประเทศไทยต้องมีการออมภาคบังคับ เพื่อให้คนที่อยู่ในวัยทำงานมีบำนาญเอาไว้ใช้จ่ายยามเกษียณ”
ทั้งนี้ในปัจจุบันแรงงานไทยที่อยู่ในวัยทำงาน อายุระหว่าง 15-60 ปี มีประมาณ 45 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ ทำงานอยู่ในตลาดแรงงาน 39 ล้านคน แยกเป็นแรงงานนอกระบบ 22 ล้านคน และแรงงานในระบบ 17 ล้านคน ส่วนที่เหลืออีก 6 ล้านคนเป็นแรงงานที่อยู่นอกตลาด
ขณะที่มาตรการต่างๆ เพื่อรองรับสังคมภายหลังจากที่แรงงานเกษียณแล้ว มีเพียงกองทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ทั้งหมดนี้ เป็นการออมภาคสมัครใจ
ขณะที่การออมภาคบังคับมีเพียงแค่ 1 แห่งเท่านั้น คือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่เข้ารับราชการตั้งแต่เป็น 2540 เป็นต้นมา ต้องสมัครเป็นสมาชิกของ กบช.
ดังนั้นกองทุนบำนาญแห่งชาติที่วาดฝันเอาไว้คือ เป็นกองทุนภาคบังคับโดยจะมุ่งเน้นไปที่แรงงานในระบบที่มีอยู่มากกว่า 17 ล้านคน ต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกของกองทุนแห่งนี้ ขณะที่ กอช. ซึ่งมีหน้าที่ดูแลแรงงานนอกระบบ 22 ล้านคนนั้น ล่าสุดเมื่อสิ้นปี 2558 มียอดสมาชิก 400,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้ ประมาณ 70% เป็นแรงงานที่อยู่ในภาคการเกษตร ส่วนปีนี้ (2559) กอช. ตั้งแต่เป้าหมายที่จะเพิ่มสมาชิกขึ้นเป็น 1.5 ล้านคน
สำหรับหลักการของกองทุนบำนาญแห่งชาตินั้น จะเป็นหน่วยงานใหม่ ที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของ กอช. โดยตัดตอนสมาชิกของประกันสังคมทางด้านชราออกมาจากสำนักงานประกันสังคม เพื่อแบ่งหน้าที่ชัดเจนระหว่างสำนักงานประกันสังคมที่จะดูเรื่องการรักษาพยาบาล ทุพลภาพ การคลอดบุตร และการตกงาน ขณะที่กองทุนบำนาญแห่งชาติจะดูแลเรื่องในช่วงวัยเกษียณทั้งหมด (อายุเกิน 60 ปี) ขณะเดียวกันก็จะมีการเพิ่มสมาชิกใหม่ด้วยวิธีการบังคับไปพร้อมๆ กัน
“กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ จะไม่เป็นภาระต่องบประมาณของรัฐบาล เพราะรูปแบบการออมจะมีลักษณะเพิ่งเงินของผู้ออมเป็นหลัก และบางส่วนจะมาจากนายจ้าง เหมือนกับการใส่เงินสะสม และเงินสมทบของประกันสังคม ซึ่งประเด็นนี้ เรากำลังพิจารณาว่า ภาครัฐควรที่จะจ่ายเงินสมทบด้วยหรือไม่” ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวทิ้งทาย