สหรัฐฯ-อิหร่าน หากรบกันจะแพ้ทั้งคู่
ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่านยกระดับขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากโดรนของอเมริกันถูกกองทัพอิหร่านยิงร่วงในตะวันออกกลางเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า นี่จะไม่นำไปสู่ความขัดแย้งทางทหาร
“ ทั้งสหรัฐฯและอิหร่านจะไม่ได้อะไร นี่เป็นสถานการณ์ที่มีแต่จะแพ้ทั้งคู่” Trita Parsi รองศาสตราจารย์วุฒิคุณที่ศูนย์ศึกษาความมั่นคง มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ให้ความเห็น
ขีปนาวุธอิหร่านยิงโดรนสำรวจทางทหารของสหรัฐฯตกเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. โดยวอชิงตันระบุว่าการโจมตีเกิดขึ้นที่ Strait of Hormuz ซึ่งเป็นน่านน้ำสากล แต่อิหร่านระบุว่าโดรนบินเข้ามาในอาณาเขตอิหร่าน
“ นี่เป็นสถานการณ์ความตึงเครียดครั้งใหญ่” Parsi กล่าว โดยเสริมว่า “ กลยุทธ์ที่แท้จริงคือการหาทางออกเพื่อลดระดับความรุนแรงลง”
ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศถดถอยลงอย่างชัดเจน หลังจากในปีที่แล้ว รัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ตัดสินใจที่จะถอนสหรัฐฯออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านในปี 2558 โดยหลังจากนั้น วอชิงตันก็รื้อฟื้นมาตรการคว่ำบาตรกับการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน โดยตั้งเป้าเพื่อทำลายเศรษฐกิจของอิหร่าน
ในสัปดาห์ก่อน วอชิงตันกล่าวโทษอิหร่านว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีเรือน้ำมัน 2 ลำในอ่าวเปอร์เชีย ซึ่งเป็นคำกล่าวหาที่อิหร่านปฏิเสธ
Parsi กล่าวโทษประธานาธิบดีทรัมป์ที่ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้น “ วิกฤตทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นไม่จำเป็นเลย นี่เป็นประเด็นที่แก้ไขได้ โชคไม่ดีที่ทรัมป์ไม่แก้ไข และพูดตามตรง ผมไม่คิดว่าเขาคิดว่านี่จะพาให้เขามาถึงจุดนี้”
นิวยอร์กไทม์รายงานเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ว่า เพื่อเป็นการรับมือกับการโจมตีโดรนสหรัฐฯ ทรัมป์ได้อนุมัติให้มีการโจมตีอิหร่าน แต่ต่อมา เขาก็ถอนคำสั่งโจมตี
“มีหลายคนในทำเนียบขาวที่เชื่อว่าหากสหรัฐฯโจมตีด้วยจรวดโทมาฮอว์ก ทางอิหร่านจะไม่โต้ตอบ ทุกอย่างที่เราเห็นจนถึงตอนนี้ สำหรับผม ดูจะเป็นวิถีของคนโง่” เขากล่าว
“ อิหร่านพูดชัดว่าจะตอบโต้หากถูกโจมตี”
Euraia Group ระบุในเอกสารเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ว่า สหรัฐฯ ไม่มีแนวโน้มจะตอบโต้โดยการใช้กำลังทหารกับอิหร่าน จากเหตุการณ์ที่โดรนของสหรัฐฯถูกอิหร่านยิงตก
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงทางการเมืองทำให้โอกาสที่จะเกิดสงครามระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่านเพิ่มขึ้นเป็น 40% โดยนักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ว่ามีโอกาสที่จะเกิดสงครามระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่านประมาณ 30% เมื่อเดือนพ.ค.