รัฐจ่ออัดฉีด บสย. ค้ำเงินกู้ให้ SMEs 1.5 ล.ล.
“รมช.คลัง” ฝันไกล ดูดถุงเงินจากรัฐ อัดฉีด บสย. เพิ่ม 10 เท่า หรือ 1.5 ล้านล้านบาท หนุนค้ำประกันสินเชื่อให้ SMEs พร้อมตั้งเป้าปั้มยอดจาก 5 ล้านรายเป็น 6 ล้านรายใน 2-3 ปีจากนี้ เล็งดึงกลุ่มคนรุ่นใหม่สู่วิถีรายย่อย ล่าสุด ผนึก 18 สถาบันการเงิน เปิดตัวโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS8 เติมเงิน 1.5 แสนล้านบาท เพิ่มสภาพคล่อง เสริมโอกาส ฉุด SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน ดันเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง กล่าวระหว่างร่วมพิธีลงลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 8 (PGS8) ที่ดำเนินการโดย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ว่า รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยเน้นสร้าง โอกาสแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เป็นกลไกหลักในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ และเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สนับสนุนให้ชุมชนฐานรากเข้มแข็ง พร้อมส่งเสริมและกระตุ้นให้มีการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการไปพร้อมกัน
“การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ PGS8 ของ บสย. กับ 18 สถาบันการเงินชั้นนำครั้งนี้ ถือเป็นโครงการสำคัญภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อรักษาสภาพคล่อง และเพิ่มการลงทุนในอนาคต จากเดิมที่ตั้งวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท สำหรับกลุ่ม SMEs ทั่วประเทศที่มีมากถึง 5 ล้านราย แต่มีเพียงแค่ 4-5 แสนรายเท่านั้น ที่เข้าถึงแหล่งเงินทุน ทำให้รัฐบาลมองเห็นโอกาสที่จะต่อยอดโครงการนี้ ด้วยการตั้งเป้าจะเพิ่มยอด SMEs ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะพวกที่เพิ่งเรียนจบ ให้หันเข้าสู่วิถีทางของ SMEs และ Start Up เพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านราย โดยรัฐบาลพร้อมจะสนับสนุนงบประมาณให้กับ บสย. เพื่อค้ำประกันสินเชื่อให้กับกลุ่ม SMEs ทั้งระบบให้สูงขึ้นถึง 10 เท่าตัว จาก 1.5 แสนล้านบาท เป็น 1.5 ล้านล้านบาทในช่วง 2-3 ปีนับจากนี้ ด้วยเชื่อว่า SMEs และ Start Up จะเป็นฐานรากที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้” รมช.คลัง ระบุ
ด้าน นายบรรยง วิเศษมงคลชัย ปธ.กก. บสย. กล่าวว่า การค้ำประกันสินเชื่อใหม่ วงเงินค้ำประกันฯ 1.5 แสนล้านบาท ในโครงการ PGS 8 จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่ม เข้าถึงสินเชื่อได้คล่องตัวขึ้นขณะเดียวกัน ก็สร้างความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงินที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับ SMEs ในส่วนที่เกินจากการค้ำประกันฯ 30% ของ บสย. ได้เป็นอย่างดี โดยมีอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินตกลงไว้กับ บสย. เพียง 4% เท่านั้น ทั้งนี้ เมื่อ SMEs ลดการพึ่งพาเงินนอกระบบ จะเกิดความเข้มแข็งจนเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศ
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กก.และผจก.ทั่วไป เสริมว่า ตลอดระยะเวลา 28 ปี บสย. ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ไปแล้วกว่า 5 แสนราย คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 8 แสนล้านบาท สำหรับ PGS8 บสย.นี้ มั่นใจว่าจะช่วย SMEs ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากมีจุดเด่นหลายประการ อาทิ ฟรีค่าธรรมเนียม 2 ปี, วงเงินค้ำประกันต่อรายที่สูงขึ้น ไม่เกิน 100 ล้านบาท รวมทุกสถาบันการเงิน (เดิม 40 ล้านบาท)
โดยคาดว่า โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS8 จะช่วย SMEs ให้ได้รับสินเชื่อไม่ต่ำกว่า 4.3 หมื่นราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินไม่ต่ำกว่า 2.25 แสนล้านบาท และก่อเกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 6.87 แสนล้านบาท ซึ่ง บสย. พร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และ PGS8 จะช่วยให้ SMEs ได้รับสินเชื่อเพียงพอต่อความต้องการ ช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงิน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
“หากเราสามารถช่วยให้ SMEs กลุ่มนี้ ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน จะส่งผลดีและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งผลจากการเปิดตัวโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS8 นี้ เชื่อว่าจะช่วยผลักดันยอดค้ำประกันในปีนี้ ก้าวสู่เป้าหมายที่วางไว้ 1 แสนล้านบาท” ดร.รักษ์ ย้ำ
สำหรับพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS8 ครั้ง มีสถาบันการเงิน 18 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank), ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank), ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารธนชาต, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย, ธนาคารทิสโก้, ธนาคารยูโอบี, ธนาคารเกียรตินาคิน, ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย และ ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมลงนาม โดยสถาบันการเงินจะเป็นผู้ให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่มีหลักประกัน หรือหลักประกันไม่เพียงพอ และ บสย.จะให้การค้ำประกันสินเชื่อให้ 30%.