เซเว่นฯ หนุนเสวยจ่อเพิ่มกำลังผลิตอีกเท่าตัว
“ซีพี ออลล์” เดินหน้าหนุน SMEs ไทย ผ่านร้านเซเว่นฯ และทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง ปีละกว่าหมื่นรายการ มูลค่าตลาด 1.2 หมื่นล้านบาท หวังเติมเต็มโอกาสให้คนทุกกลุ่มของสังคมไทย ด้านผลไม้แช่อิ่มแบรนด์ “เสวย” จ่อขยายกำลังผลิตรับออเดอร์พุ่งจาก 50 ล้านบาทเป็น 100 ล้านบาทต่อปี หลังคว้ารางวัล “เซเว่น อีเลฟเว่น เอสเอ็มอีไทยยั่งยืน ปี 61” จนผู้นำเข้าจากจีนเตรียมสั่งซื้อแล้ว เผยยอดขายที่เพิ่มขึ้น ช่วยสร้างงานและเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร
นายบัญญัติ คำนูณวัฒน์ ผช.กก.ผจก. บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย กล่าวถึงนโยบาย “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคน” ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนสินค้าของผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ที่มีคุณภาพมาตรฐานและเป็นที่นิยมจากประชาชน กว่า 10,000 รายการ มูลค่าตลาดรวมราว 1.2 หมื่นล้านบาท ผ่าน 2 ช่องทางการจำหน่าย คือ 1.ร้านเซเว่นฯ ทั่วประเทศกว่า 5,000 ล้านบาท และอีกกว่า 6,000 ล้านบาท ผ่านช่องทางของ บริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด ประกอบด้วยการจำหน่ายสินค้าผ่านนิตยสารทเวนตี้โฟร์ แคตตาล็อก ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ และอีคอมเมิร์ซ พร้อมกันนี้ ยังช่วยยกระดับการพัฒนา SMEs ให้เจริญก้าวหน้าเติบโตเป็นบริษัทขนาดใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“เราช่วยส่งเสริมและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อย ได้จำหน่ายสินค้า SMEs ไม่ว่าจะเป็นผลไม้แปรรูป, เครื่องดื่ม, เบเกอรี่, ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ฯลฯ ซึ่งสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป รวมถึงสินค้าที่ใช้วัตถุดิบทางการเกษตรของกลุ่มธุรกิจ SMEs จะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ช่วยให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สำหรับสินค้าที่จะเข้ามาเสนอขายผ่านร้านเซเว่นฯ และช่องทางของทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้งนั้น ขอเพียงเป็นสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาด สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภค ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานสินค้า ได้รับเครื่องหมายรับรองจากหน่วยงานราชการ เช่น อย. เครื่องหมายรับรองมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ มอก. ก็สามารถติดต่อเข้ามาได้ ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs สมัยใหม่จะต้องมีทัศนคติที่ดี รู้จักพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา และที่สำคัญจะต้องมีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า และคู่ค้า” นายบัญญัติ กล่าว และว่า
ความหมายของนโยบาย “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคน” ครอบคลุมในหลายมิติ ตั้งแต่ การสร้างโอกาสแก่เด็กและเยาวชนไทยให้ได้รับทุกการศึกษา, สร้างโอกาสให้คนในท้องถิ่นทั่วประเทศได้มีงานทำกว่า 1.7 แสนคน, ส่งเสริมให้ซัพพลายเชนได้ขายสินค้า, รับซื้อสินค้าจากเกษตรกรในราคาที่สูงและเป็นธรรม, ช่วยให้ช่างฝีมือ (รับเหมาก่อสร้าง) ในพื้นที่ได้รับจ้างสร้างร้านเซเว่นฯปีละกว่า 700 แห่ง, ทำให้ระบบโลจิสติกส์ (ขนส่ง) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายย่อยได้มีงานทำ รวมถึงเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เป็นเจ้าของธุรกิจร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น
ด้าน น.ส.นันทภรณ์ ชะเสริมไพร กก.ผจก. บริษัท เสวย ผลไม้แช่อิ่ม จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป “เสวย” จาก จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทฯมียอดขายสินค้า คือ มะม่วงแช่อิ่ม, มะกอกน้ำแช่อิ่ม และมะดันแช่อิ่ม ผ่านช่องทางร้านเซเว่นฯรวม 50 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ มีแผนจะขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เพื่อขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการตลาด โดยตั้งเป้าขยายยอดขายเพิ่มเป็น 100 ล้านบาท ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะช่วยให้เพิ่มปริมาณการรับซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง, มะกอกน้ำ และมะดัน ทั้งจากในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงจากเกษตรกรทางภาคเหนือ ได้มากขึ้น
“บริษัทฯมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิต พร้อมกับขยายไลน์สินค้าใหม่ๆ อาทิ กระท้อนและผลไม้อื่นๆ เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด โดยมีจุดเด่นที่แตกต่างทั้งรสชาติของผลิตภัณฑ์และวิธีการผลิตที่ไม่เหมือนกัน แม้จะเป็นผลไม้แช่อิ่มเหมือนกันก็ตาม แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือความสะอาด ปลอดภัยและได้มาตรฐาน ตามระบบ GMP-HACCP”
น.ส.นันทภรณ์ ย้ำว่า บริษัทฯได้รับการสนับสนุนด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต ตลอดจนบรรจุภัณฑ์จากบริษัท ซีพีออลล์ฯ จนสามารถขยายธุรกิจ ซื้อที่ดิน และสร้างโรงงานบนพื้นที่กว่า 15 ไร่เป็นของตัวเอง กระทั่งคว้ารางวัลชนะเลิศ “เซเว่น อีเลฟเว่น เอสเอ็มอีไทยยั่งยืน ปี 2561 ประเภท SME สินค้าเกษตร มาครอง เมื่อต้นปีที่ผ่านมา และการเข้าร่วมออกร้านจำหน่ายสินค้าในงานดังกล่าว ทำให้มี “ออร์เดอร์” ในส่วนของมะกอกน้ำแช่อิ่มและมะดันแช่อิ่มจากผู้ส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีนเป็นจำนวนมาก เพียงแต่ยังไม่สามารถส่งไปจำหน่ายได้ เนื่องจากมีกำลังการผลิตไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ แต่ละปีโรงงานที่มีพนักงานซึ่งเป็นคนในพื้นที่ราว 50 คน สามารถรับซื้อวัตถุดิบ คือ มะม่วงมากถึงปีละ 1,000 ตัน, มะกอกน้ำและมะดันอีกอย่างละ 500 ตัน ซึ่งหากเพิ่มกำลังการผลิตได้เป็น 2 เท่าตัว รองรับความต้องการของตลาดผ่านร้านเซเว่นท์ฯ และคำสั่งซื้อจากภายนอก ซึ่งทางบริษัท ซีพีออลล์ฯ ก็ไม่ได้ปิดกั้น เชื่อว่าจะช่วยให้เกษตรกรขายสินค้าวัตถุดิบได้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน.