คาดปีใหม่เงินสะพัด 1.25 แสนล้าน
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยคาดปีใหม่เงินสะพัดทะลุ 1.25 แสนล้านบาทสูงสุดในรอบ 10 ปี
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายผู้บริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งสำรวจจากผู้บริโภค 1,200 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 14-20 ธ.ค. 58 ว่า คาดประชาชนจะมีการใช้จ่ายรวม 125,015 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน ถือว่าเป็นมูลค่าการใช้จ่ายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยผู้ตอบส่วนใหญ่ 45.5% ระบุการใช้จ่ายในปี 59 ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับปี 58 แต่อีก 42.7% ระบุเพิ่มขึ้น และอีก 11.8% ระบุลดลง
สำหรับมูลค่าการใช้จ่ายที่ 125,015 ล้านบาทนั้น แบ่งเป็นการเลี้ยงสังสรรค์ 9,012.34 ล้านบาท ทำบุญ 7,254.89 ล้านบาท ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 14,783 ล้านบาท ซื้อสินค้าคงทน 1,076.44 ล้านบาท ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย 771.23 ล้านบาท ไปเที่ยวในประเทศ 54,485.10 ล้านบาท และเที่ยวต่างประเทศ 37,631.87 ล้านบาท และหากแบ่งการใช้จ่ายเป็นของคนกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พบว่า เป็นการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ 61,595.35 ล้านบาท และคนต่างจังหวัด 63,419.59 ล้านบาท
ส่วนแหล่งที่มาของเงินใช้จ่ายนั้น ผู้ตอบส่วนใหญ่ 53.4% ตอบมาจากเงินเดือน/รายได้ปกติ รองลงมาคือ 23.2% มาจากเงินออม, 22.3% มาจากโบนัส/รายได้พิเศษ และอีก 1.1% มาจากแหล่งอื่นๆ สำหรับของขวัญยอดนิยมในช่วงปีใหม่ ได้แก่ กระเช้าของขวัญ เงินสด/เช็คของขวัญ กระเช้าผลไม้ เครื่องดื่มบำรุง ของรับประทาน สุรา/ไวน์ ดอกไม้ จัดเลี้ยง/สังสรรค์ให้ สินค้าคงทน การ์ดอวยพร เสื้อผ้า สินค้าหัตถกรรมไทย สลากกินแบ่งรัฐบาล/เสี่ยงโชค เป็นต้น
นางเสาวณีย์ กล่าวว่า เมื่อถามถึงการวางแผนออกนอกพื้นที่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ผู้ตอบส่วนใหญ่จะไปท่องเที่ยว และกลับบ้าน โดยคนที่จะไปท่องเที่ยวในประเทศ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคน 12,332.55 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 10,425.95 บาท ส่วนไปเที่ยวต่างประเทศ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคน 90,247.84 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 80,126.73 ล้านบาท
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มูลค่าการใช้จ่ายปีนี้ที่ 125,015 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตามค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ส่วนอัตราการขยายตัวที่ 6.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน ถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี ถือว่าไม่สูงมากนัก เพราะเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ฉุดกำลังซื้อผู้บริโภค หากเป็นในช่วงที่เศรษฐกิจดี อัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณ 10%
ทั้งนี้สาเหตุที่มูลค่าการใช้จ่ายยังขยายตัวได้ เพราะผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบมากขึ้น ทำให้ประชาชนมีเงินใช้จ่ายในช่วงปีใหม่ รวมกับเงินออม เงินโบนัส และรายได้พิเศษ ซึ่งเงินค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นเพราะราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น แต่ประชาชนยังระมัดระวังการใช้จ่ายเหมือนเดิม เห็นได้จาก จำนวนชิ้นที่ซื้อไม่ได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าคงทน อย่างบ้าน รถ เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ยอดขายยังไม่โดดเด่น
ส่วนสาเหตุที่ประชาชนยังคงระวังการใช้จ่าย เพราะยังไม่มั่นใจเศรษฐกิจในอนาคต เห็นได้จากแนวโน้มราคาน้ำมันยังอยู่ในช่วงขาลง ห่วงภัยธรรมชาติ และภัยแล้ง ที่อาจทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย จึงต้องการให้รัฐบาลเตรียมพร้อมรับมือภัยแล้งด้วย