กสิกรไทยคาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อยอีก 2 ครั้ง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกบทความเรื่อง “เฟดขยับกรอบอัตราดอกเบี้ยขึ้นมาที่ 0.25-0.50% พร้อมส่งสัญญาณดอกเบี้ยขึ้นต่ออย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 2559″
หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ได้ส่งสัญญาณเกี่ยวกับการเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds Rate) อย่างต่อเนื่องกับตลาดในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ล่าสุดในการประชุม FOMC เมื่อวันที่ 15-16 ธ.ค.2558 เฟดก็ได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2549 ซึ่งส่งผลให้กรอบอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ขยับขึ้น 0.25% จาก 0.00%-0.25% มาอยู่ที่ 0.25%-0.50% ขณะที่ยังคงแนวทางการจัดการกับงบดุลไว้ตามแผนเดิม โดยเฟดจะนำเงินที่ได้จากพันธบัตรที่ทยอยครบกำหนดไถ่ถอนกลับมาลงทุนต่อ ซึ่งย่อมจะทำให้งบดุลของเฟดทรงตัวอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับระดับ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ในปัจจุบันต่อไปอีกระยะหนึ่ง
ทั้งนี้ถ้อยแถลงที่ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตการเงินในช่วงปี 2550-2551 มาแล้ว และตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เปิดเผยออกมาใหม่หลังการประชุม สะท้อนว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องในปี 2559 จะทำให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยในการประชุม FOMC นัดถัดๆ ไปในปี 2559 เฟดจะให้ความสำคัญกับทิศทางของเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะดูประกอบเพิ่มเติมจากการประเมินภาพเศรษฐกิจ และตลาดแรงงานของสหรัฐฯ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะเกิดขึ้นต่อเนื่องในปี 2559 ซึ่งคงส่งผลต่อเนื่องมายังการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ฯ เมื่อเทียบกับหลายสกุลเงินในภูมิภาคเอเชีย เงินบาท รวมถึงอัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรไทย อย่างไรก็ดี สถานการณ์ดังกล่าว อาจมาพร้อมกับทิศทางที่ผันผวน เนื่องจากคาดว่า ตลาดการเงินจะยังคงต้องประเมินหลายๆ ตัวแปรในแต่ละรอบการประชุมในปี 2559 เพื่อจับจังหวะและประเมินช่วงเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด
หลายสัญญาณจากเฟดสะท้อนว่า วัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยนอกจากเฟดจะตอกย้ำด้วยถ้อยแถลง ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ และแผนภาพ Dot Plot ที่เปิดเผยออกมาภายหลังการประชุมแล้ว เฟดยังมีการเตรียมเครื่องมือในการดูแลการเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นให้ขยับขึ้นสอดคล้องกับกรอบอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับสูงขึ้นตามมติการประชุมในรอบนี้ด้วยเช่นกัน โดยเฟดได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินสำรองส่วนเกินของสถาบันการเงินที่ฝากไว้ที่เฟดมาที่ 0.50% จาก 0.25% และเพิ่มวงเงินการดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินผ่านช่องทางการทำธุรกรรม Reverse Repo กับดีลเลอร์ชั้นนำ และกองทุนตลาดเงิน เป็นไม่เกิน 2 ล้านล้านดอลลาร์ฯ จากเดิมที่ระดับ 3 แสนล้านดอลลาร์ฯ โดยอัตราดอกเบี้ย Reverse Repo ก็ขยับขึ้นมาที่ 0.25% จากเดิมที่ 0.05% ด้วยเช่นกัน
แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะยังคงขยับขึ้นต่อเนื่องในปี 2559 ซึ่ง ณ ขณะนี้ ยังคงมองว่า เฟดอาจมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย Fed Funds อีก 2 ครั้งเป็นอย่างน้อยในปีหน้า เพราะสถานการณ์ของหลายตัวแปรยังคงมีความไม่แน่นอน
โดยแม้ว่าเฟดจะเพิ่มน้ำหนักกับตัวแปรเงินเฟ้อที่เฟดมองว่า อาจจะทยอยขยับขึ้นในปีหน้า แต่คงต้องยอมรับว่า แรงกดดันเงินเฟ้ออาจจะยังมีภาพที่ไม่ชัดเจนมากนัก อย่างน้อยก็ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังมีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบที่ค่อนข้างต่ำอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ฯ ก็จะช่วยลดทอนแรงกดดันเงินเฟ้อ (ในส่วนที่มาจากสินค้านำเข้า หรือ Imported inflation) ลงไปด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้มองว่า สัญญาณการฟื้นตัวที่เปราะบางของเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก โดยเฉพาะจีน และประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ฯ กับโมเมนตัมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ก็อาจจะทำให้เฟดไม่สามารถส่งสัญญาณในเชิงคุมเข้มได้อย่างชัดเจนมากนักในทุกๆ รอบการประชุมของปีหน้า
เงินบาทมีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่าต่อเนื่องในปี 2559 (แต่มีโอกาสที่จังหวะความผันผวนของเงินบาทจะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย) หลังจากที่อ่อนค่ากลับมายืนใกล้ระดับ 36.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ รับผลการประชุมเฟด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เงินบาทอาจอ่อนค่า ท่ามกลางกระแสการคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะยังคงเป็นทิศทางขาขึ้นในปี 2559 สวนทางกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่น่าจะสามารถทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1.50% ตลอดทั้งปี
นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังอาจได้รับแรงหนุนอ้อมจากสัญญาณผ่อนคลายมาตรการทางการเงินของธนาคารกลางชั้นนำอื่นๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางญี่ปุ่น ธนาคารกลางจีน ขณะที่การเคลื่อนไหวของหลายสกุลเงินในภูมิภาค (นำโดย เงินหยวน) ที่น่าจะโน้มไปในด้านอ่อนค่า ก็อาจทำให้เงินบาททยอยอ่อนค่าตามกระแสไปด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ธนาคารกสิกรไทยคาดการณ์ระดับเงินบาท ณ สิ้นปี 2559 ไว้ที่ 38.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ