เทศกาลปีใหม่คนกรุงฯ เน้นใช้สอยประหยัด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยผลสำรวจ เทศกาลปีใหม่คนกรุงฯ เน้นใช้สอยประหยัด คัดสรรผู้รับ และของขวัญมากขึ้น แต่ยังคาดเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจของขวัญยังโต หรืออยู่ที่กว่า 9,000 ล้านบาท
แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจยังอ่อนแรง แต่คนกรุงฯ ส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับการมอบของขวัญในช่วงเทศกาลปีใหม่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อของขวัญ/ของฝากของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 น่าจะมีมูลค่า 9,000 ล้านบาท ขยายตัว 5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
กลุ่มลูกค้าองค์กร มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเม็ดเงินในตลาด (เพราะมีสัดส่วนประมาณ 60% ของมูลค่าตลาดของขวัญ/ของฝากทั้งหมด) ในปีนี้การจัดสรรงบประมาณเพื่อการซื้อของขวัญของกลุ่มองค์กรจะให้ความสำคัญกับการคัดกรองลูกค้าเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น รวมถึงของขวัญที่จะมอบให้ด้วย ดังนั้นการทำตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าองค์กร ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตสินค้าแบบ Made to Order ควรเน้นพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพ ชูความมีเอกลักษณ์ สนับสนุนการสร้างแบรนด์ให้กับลูกค้าองค์กร ส่วนผู้ประกอบการอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มค้าปลีกสมัยใหม่ที่จับตลาดกลุ่มนี้ อาจจะนำเสนอสินค้าพรีเมียม และเพิ่มการให้บริการที่สะดวก และครบวงจรแก่ลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น
ส่วนกลุ่มลูกค้าทั่วไป เทรนด์ที่ยังคงมาแรงในปีนี้ คือ สินค้าที่ชูความคุ้มค่าคุ้มราคา รองลงมาคือ สินค้าสุขภาพ ดังนั้นกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีกสมัยใหม่สามารถนำมาช่วยกระตุ้นยอดขายได้ดีก็คือ การทำการตลาดผ่านกลยุทธ์ด้านราคาที่ชูความคุ้มค่า ควบคู่ไปกับการชูจุดขายด้านการออกแบบสินค้า และแพคเกจจิ้ง หรือนำเสนอความแปลกใหม่ของสินค้า ซึ่งน่าจะดึงความสนใจของลูกค้าให้เข้ามาเลือกซื้อได้
ในช่วงเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองปีใหม่ที่ใกล้จะมาถึง สิ่งหนึ่งที่สร้างสีสัน และความคึกคักให้กับตลาดก็คือ “ของขวัญ” เนื่องจากสามารถใช้เป็นสื่อแทนใจแสดงออกถึงความขอบคุณหรือมิตรภาพที่ดี สำหรับบุคคลอันเป็นที่รัก และเคารพนับถือ โดยในปีนี้พบว่า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังเห็นความสำคัญของการให้ของขวัญปีใหม่แก่กัน และกัน และจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ไว้ หากมองในมุมทางธุรกิจ ของขวัญเสมือนสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่สามารถบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจ หรือกำลังซื้อได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสะท้อนไปถึงรสนิยม ไลฟ์สไตล์และลักษณะการดำเนินชีวิตของผู้บริโภค ดังนั้นเมื่อพิจารณาเจาะลึกลงไปถึงผู้เล่นในตลาดของขวัญ จะพบว่า มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของผู้เล่นหรือผู้ประกอบการในตลาดอยู่ 2 กลุ่มหลักๆ คือ
หนึ่ง กลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) : ถือเป็นผู้เล่นหลักในตลาด ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งแต่ละแห่งก็จะชูจุดขายที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้เมื่อสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในปีนี้ พบว่า “ห้างสรรพสินค้า” ยังถือเป็นแหล่งช็อปปิ้งโดนใจของคนกรุงเทพฯ ในการเลือกซื้อสินค้าในช่วงเทศกาลปีใหม่มากที่สุดเช่นเดียวกันกับทุกๆ ปี เพราะมีสินค้าหลากหลายครอบคลุมเกือบทุกประเภท และเข้าถึงลูกค้าได้หลากหลายกลุ่ม ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น/วัยทำงานไปจนถึงผู้สูงอายุ อีกทั้งยังมีการทำโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อจูงใจผู้บริโภคให้ตัดสินใจซื้อ เช่น ลดราคาผ่อนชำระ 0% ผ่านบัตรเครดิต หรือของสมนาคุณต่างๆ เป็นต้น
สอง กลุ่มผู้ผลิตสินค้าในลักษณะ Made to Order : กลุ่มนี้ผลิตสินค้าสนับสนุนกลุ่มองค์กรเป็นหลัก เช่น ธนาคาร กลุ่มธุรกิจ บริษัทหรือห้างร้านต่างๆ ซึ่งจะมีการสั่งซื้อเป็นประจำทุกปี ส่วนหนึ่งทำเพื่อการประชาสัมพันธ์ หรือ PR บริษัทไปในตัว และยังถือเป็นการรักษาความสัมพันธ์ของลูกค้าไปพร้อมกัน โดยสินค้าที่สั่งทำส่วนใหญ่จะแตกต่างกันไปในแต่ละบริษัท อาทิ บางบริษัทอาจประยุกต์ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทผลิตมาเป็นของขวัญที่มอบให้กับลูกค้า หรือบางบริษัทสั่งทำสินค้าขึ้นมาใหม่เพื่อสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า ซึ่งในระยะหลังจะเน้นไปที่สินค้าในลักษณะพรีเมียมที่มีคุณภาพสูง หรือเน้นการออกแบบดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ อาทิ สินค้าที่อยู่ในกระแสนิยม (กระเป๋าหนัง สินค้าไอที เช่น Power Bank หรือ Flash Drive) หรือการออกแบบที่สื่อถึงองค์กรนั้นๆ รวมถึงสินค้าทั่วไปที่สื่อถึงบรรยากาศของเทศกาลปีใหม่ เช่น ปฏิทิน ปากกา สมุดโน๊ต เป็นต้น
ในขณะที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายสำคัญของตลาดของขวัญ/ของฝาก โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ซึ่งมีความแตกต่างของลักษณะการเลือกซื้อ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจพฤติกรรม และการวางแผนเลือกซื้อของขวัญ/ของฝากของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
ลูกค้าบุคคล : กลุ่มนี้คือกลุ่มลูกค้าทั่วไป (คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของมูลค่าตลาดของขวัญ/ของฝากทั้งหมด) ซึ่งรายได้มีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัว ไม่ชัดเจน จะส่งผลต่องบประมาณและจำนวนบุคคลที่จัดสรรไว้ซื้อของขวัญ แต่บุคคลที่ยังคงเป็นผู้รับคนสำคัญของลูกค้ากลุ่มนี้ ได้แก่ พ่อแม่ และญาติผู้ใหญ่ ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ต้องมอบให้ทุกปีเพื่อแสดงถึงความเคารพรัก โดยสินค้าที่อยู่ในกระแสและยังได้รับความสนใจในการเลือกซื้อเป็นของขวัญ ได้แก่ กลุ่มอาหาร/ขนม/เบเกอรี่ รองลงมาคือ สินค้า Gift shop กระจุกกระจิกประเภทต่างๆ ซึ่งได้รับความนิยมสูงจากกลุ่มวัยรุ่น/วัยทำงาน เพราะเหมาะแก่การมอบเป็นของขวัญเล็กๆ น้อยๆ แทนใจ สามารถมอบให้ได้หลากหลายกลุ่มผู้รับ ตามมาด้วยกระเช้าของขวัญ (ที่เน้นความคุ้มค่าคุ้มราคา และสินค้าสุขภาพ) ที่ยังครองใจผู้บริโภควัยกลางคน ตามลำดับ ในขณะที่สินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงิน อาทิ เช็คเงินสด บัตรของขวัญ เป็นกลุ่มที่ได้รับนิยมน้อยสำหรับที่จะเลือกมาเป็นของขวัญในช่วงเทศกาลปีใหม่ รวมถึงพวกเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ที่ได้รับการตอบรับลดลง เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านขนาด และราคาต่อชิ้นค่อนข้างสูง
ลูกค้าองค์กร : เป็นคีย์แมนสำคัญในการขับเคลื่อนเม็ดเงินในตลาดของขวัญ (มีสัดส่วนประมาณ 60% ของมูลค่าตลาดของขวัญ/ ของฝากทั้งหมด) ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้มีเป้าหมายเลือกซื้อของขวัญที่มีนัยสำคัญทางสังคม และธุรกิจเหนือกว่าสินค้าของขวัญโดยทั่วไป โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้รับเป็นลูกค้า/หน่วยงานที่ติดต่อประสานงานด้วย
โดยในปีนี้นอกจากการสั่งซื้อสินค้าแบบ Made to Order แล้ว สินค้าที่กลุ่มองค์กรนิยมซื้อเพื่อมอบเป็นของขวัญมากที่สุด ได้แก่ กระเช้าของขวัญ ซึ่งเทรนด์ในการเลือกซื้อที่ได้รับความนิยม ยังเป็นกระเช้าที่เน้นสินค้าที่มีความคุ้มค่าคุ้มราคา รองลงมาคือ กระเช้าที่บรรจุสินค้าเพื่อสุขภาพ/ สินค้าที่มาจากธรรมชาติ (โดยเน้นไปที่กลุ่มสินค้าพรีเมียมมากขึ้น) ที่ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจากกระแสรักสุขภาพที่มาแรง และสื่อความหมายในเชิงความห่วงใยได้เป็นอย่างดี
กล่าวโดยสรุป แม้ว่าความกดดันด้านค่าครองชีพและสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ จะส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อของขวัญอยู่บ้างในช่วงเทศกาลปีใหม่ปีนี้ แต่คนกรุงฯ ส่วนใหญ่ยังมีการเตรียมจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้เอาไว้ และให้ความสำคัญกับตัวบุคคล และของขวัญที่จะมอบให้มากขึ้น อีกทั้งบางส่วนยังได้รับค่าตอบแทน (โบนัส) จากที่ทำงานบางแห่งในช่วงสิ้นปี ทำให้คาดว่า ภาพของตลาดของขวัญในช่วงเทศกาลปีใหม่ปีนี้จะยังขยายตัวได้ และไม่ได้เลวร้ายมากนักเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อของขวัญ/ของฝากของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 อาจมีมูลค่าอยู่ที่กว่า 9,000 ล้านบาท ขยายตัว 5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (ที่มีมูลค่า 8,600 ล้านบาท)