ไทยยกเกาหลีใต้ หุ้นส่วนเศรษฐกิจการลงทุน
นายกรัฐมนตรี เทียบเชิญนักลงทุนเกาหลีใต้ ใช้ไทยเป็นฐานขยายธุรกิจสู่ประเทศ CLMV พร้อมชื่นชมและสนับสนุนนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy-NSP) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษต้อนรับประธานาธิบดีมุน แช อิน (Moon Jae-in) คณะนักลงทุนชั้นนำจากสาธารณรัฐเกาหลี และไทยกว่า 600 คน ในโอกาสเดินทางเข้าร่วมงานสัมมนา “Thailand-Korea Business Forum” ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และหอการค้าและอุตสาหกรรมสาธารณรัฐเกาหลี ว่า การเดินทางเยือนไทยของประธานาธิบดี มุน แช อิน พร้อมคณะนักธุรกิจชั้นนำในอุตสาหกรรมต่างๆ ของสาธารณรัฐเกาหลีครั้งนี้ เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่านักลงทุนจากสาธารณรัฐเกาหลีให้ความสำคัญกับประเทศไทยในฐานะหุ้นส่วนเศรษฐกิจการลงทุน
นโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy-NSP) ของประธานาธิบดีมุน แช อิน ที่ประกาศขยายความร่วมมือด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นนโยบายที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของไทย และอาเซียน ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจด้านต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญและต้องการมหามิตร มาร่วมมือเพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกันในอนาคต
“การเยือนประเทศไทยของท่านประธานาธิบดีครั้งนี้ เป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะได้ร่วมมือเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและเชื่อมโยงนโยบายด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของไทยให้สอดคล้องและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นกับนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy-NSP) ของสาธารณรัฐเกาหลี” พลเอกประยุทธ์กล่าว
รัฐบาลไทยตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของสาธารณรัฐเกาหลี ทั้งด้านการค้าการลงทุน จากการที่สามารถใช้พลังด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งผสมผสานกับพลังด้านวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ในการสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ขณะที่ผู้ประกอบการในทุกระดับ รวมทั้งสตาร์ทอัพของสาธารณรัฐเกาหลีก็มีเทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรมที่โดดเด่น จุดแข็งต่างๆ ทั้งความสามารถเชิงเทคโนโลยี ประสบการณ์ในหลากหลายอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการเกาหลีใต้ ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างสูงในระดับโลก เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาของประเทศไทย ในฐานะที่เป็นประตูสู่ภูมิภาค CLMVT และมีบทบาททางเศรษฐกิจที่สำคัญในอาเซียน
“ประเทศไทยได้เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อเสริมความโดดเด่นด้าน ‘Connectivity’ ในทุกมิติ การสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการเร่งพัฒนาบุคลากรที่มี องค์ความรู้ในเทคโนโลยีใหม่ๆ ผมจึงขอเชิญชวนให้ท่านใช้จุดแข็งที่ท่านมีในการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในประเทศไทย โดยใช้ไทยเป็นฐานในการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านใน CLMV และอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีนี้เป็นปีแห่งการลงทุนที่ท่านจะได้สิทธิประโยชน์พิเศษเพิ่มเติม” พลเอกประยุทธ์ กล่าว
ด้านนางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า การจัดงาน Thailand-Korea Business Forum ครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเศรษฐกิจการลงทุน รวมถึงการพบปะระหว่างนักธุรกิจชั้นนำของไทยและสาธารณรัฐเกาหลี จึงถือเป็นโอกาสอันดีในการแนะนำนโยบายด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ตลอดจนความพร้อมของปัจจัยต่างๆ ที่จะรองรับการลงทุนและโอกาสในการทำธุรกิจในไทย
และประเทศไทยมีสิทธิประโยชน์ที่เอื้อต่อนักลงทุนต่างชาติมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มเกาหลีที่มองเห็นโอกาสในหลายๆ อุตสาหกรรมที่ประเทศไทยกำลังให้ความสนใจ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 8 ข้อหลัก ได้แก่ 1.ประเทศไทยป็นจุดยุทธศาสตร์ในการ ลงทุนในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งยังเป็นใจกลางการร่วมมือของกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีที (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย)
2.ไทยมีการเชื่อมโยงการค้าและการลง ทุนกับหลายประเทศ และมีการลงทุนโครง สร้างพื้นฐานเป็นมูลค่าสูงเพื่อพัฒนาระบบคมนาคม และการรองรับการลงทุนต่างๆ 3.มีอุตสาหกรรมหลักที่มีการตั้งอยู่ในประเทศ ไทยหลายปีสามารถเชื่อมโยงห่วงโซ่อุตสาห กรรมได้มากมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถ ยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี 4.ไทยมี ตลาดในประเทศค่อนข้างใหญ่ และกำลังซื้อมาก ขณะที่ปัจจุบันเปลี่ยนไปใช้โซเชียลมากขึ้นซึ่งเป็นโอกาสของเกาหลี
5.ไทยมีสตาร์ทอัพที่แข็งแรง รวมถึง เอกชนที่พร้อมจะพัฒนาสตาร์ทอัพด้วย 6.ไทย มีคุณภาพชีวิตที่ดี 7.การพัฒนาคนที่มีทักษะ ตรงตามความต้องการของสายงาน และ 8.สมาร์ทวีซ่า และมีความเข้มแข็งของรัฐบาลไทยที่ดีขึ้น
และในโอกาสเดียวกันนี้บีโอไอยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างบีโอไอ และหอการค้า และอุตสาหกรรมสาธารณรัฐเกาหลี (Korea Chamber of Commerce and Industry) หรือ KCCI เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนโยบายส่งเสริมการลงทุน ความร่วมมือเพื่อสนับสนุนนักลงทุนเกาหลีใต้และไทยในการขยายกิจการไปทั่วโลก รวมทั้งความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการฝึกอบรมสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล ยานยนต์ ไบโอเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เป็นต้น