ชง 5 มาตรการดันไทยฐานผลิตยานยนต์สมัยใหม่
สถาบันยานยนต์ ชง 5 มาตรการเร่งด่วน ยกระดับการผลิต ปฏิรูปโครงสร้างภาษีสินค้ายานยนต์ทั้งระบบ ตั้งเป้า ปี 2030 ไทยเป็นฐานผลิตยานยนต์สมัยใหม่ ยอดผลิตทะลุกว่า 4 แสนคัน
นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน ผู้ทำการแทนผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เสนอ “วิสัยทัศน์ประเทศไทยต่อยานยนต์อนาคต”ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน พร้อมนำเสนอ5 มาตรการเร่งด่วน และ 14 มาตรการต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายดังกล่าว โดย 5 มาตรการเร่งด่วน ได้แก่
(1) การปฏิรูปโครงสร้างภาษีที่เกี่ยวข้องกับสินค้ายานยนต์ทั้งระบบ ให้สอดคล้องกันภายใต้แนวคิด “สะอาด-ประหยัด-ปลอดภัย” (2) กำหนดสิทธิประโยชน์แก่ผู้บริโภค ทั้งที่เป็นตัวเงินและมิใช่ตัวเงิน เพื่อสร้างตลาด (3) ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการประจุไฟฟ้า
(4) ยกระดับความสามารถการผลิตของผู้ประกอบการปัจจุบัน และการพัฒนาบุคลากร ให้พร้อมสำหรับการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ (Reskill and Upskill) รวมทั้งสร้างโอกาสทางธุรกิจเพิ่มเติม ให้ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ได้และ (5) เตรียมบุคลากรที่ยังอยู่ในระบบการศึกษา เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (New skill) ยานยนต์สมัยใหม่นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคในด้านการเดินทางที่สะดวกสบาย ปลอดภัย มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ในด้านธุรกิจยังมีมูลค่ามหาศาล
โดยคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2030 มูลค่าของธุรกิจการผลิตยานยนต์ และบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยานยนต์สมัยใหม่ทั่วโลกจะมีมูลค่ารวมถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้นประเทศไทยควรเร่งพัฒนาตนเอง เพื่อช่วงชิงรายได้มหาศาลดังกล่าวเข้าประเทศให้ได้มากที่สุดซึ่งความสำเร็จนี้จะเกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายที่เหมาะสมและความร่วมมืออย่างแนบแน่นของทุกภาคส่วน
นายอดิศักดิ์ ยังได้กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน มีมาตรการลดการใช้พลังงานในภาคขนส่ง โดยตั้งเป้าหมายใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (Electric vehicle) ประเภทปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และประเภทแบตเตอรี่ (BEV) รวมกัน1.2 ล้านคัน ภายในปี ค.ศ. 2036 อีกทั้ง รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ให้เป็นหนึ่งใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ในระยะแรกของการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ได้ให้ความสำคัญไปที่ยานยนต์ไฟฟ้า(Electric vehicle) โดยในปี ค.ศ. 2017 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้มีมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ตั้งเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (Any electric vehicle: xEV) จำนวนร้อยละ 25 ของปริมาณการผลิตยานยนต์ในประเทศ ในปี ค.ศ.2036
สถาบันยานยนต์ จึงทำวิจัยทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยในอนาคต 3 เรื่อง คือ
1. การทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อง (Literature review)เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ เป้าหมายการพัฒนาและประโยชน์ที่จะได้รับจากเทคโนโลยี รวมทั้งเป้าหมายและการดำเนินนโยบายของประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์สมัยใหม่ อีกทั้งยังเพื่อให้ทราบแนวโน้มของตลาดยานยนต์โลกเนื่องจากการผลิตยานยนต์ของไทยกว่าครึ่งเป็นไปเพื่อการส่งออก และใช้เรียนรู้เพื่อเป็นกรณีศึกษาสำหรับการดำเนินนโยบายภาครัฐของประเทศไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การทบทวนเอกสาร ยังรวมรวมข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่มูลค่ายานยนต์ในอนาคตอีกด้วย
2. สัมภาษณ์ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (In-depth interview)ได้แก่ ภาครัฐ ผู้ผลิตรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษา และสื่อมวลชนด้านยานยนต์
3. การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) โดยใช้วิธี “คาดการณ์อนาคต (Foresight)” จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมระดมสมองให้ได้ภาพอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี ค.ศ. 2030 และแนวทางดำเนินงานเพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมประชุมกว่า 100 หน่วยงาน ซึ่งใช้เวลา 1 ปี ทำให้สถาบันยานยนต์ได้ภาพอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่สะท้อนจากความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการการเดินทางอย่างชาญฉลาด หรือที่เรียกว่า “Smart Mobility” อันหมายถึง การเดินทางที่สามารถเชื่อมต่อการเดินทางในรูปแบบต่างๆ และเป็นการเดินทางที่สะดวก ปลอดภัย พาหนะที่ใช้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
รวมทั้งต้องมีราคาที่สมเหตุผลและทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงการเดินทางได้อย่างทั่วถึงในทุกระดับ โดย “ในปี ค.ศ. 2030 ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ที่สำคัญของภูมิภาค โดยจะผลิตรถยนต์ 2.5 ล้านคัน และ 1.5 ล้านคัน เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ โดยร้อยละ 15 เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) และร้อยละ 60 เป็นรถยนต์ที่มีความสามารถขับเคลื่อนอัตโนมัติในระดับ 3 ส่วนรถที่ใช้ในกิจการที่เป็นสาธารณะ เช่น รถโดยสาร รถสามล้อ รถจักรยานยนต์
ทั้งหมดจะเป็นรถ BEV ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายในระยะยาวที่ ประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ ที่มีห่วงโซ่อุปทานที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยการทำวิจัยและพัฒนาควบคู่กับการเป็นฐานการผลิตส่วนประกอบที่มีมูลค่าเพิ่มสูง อาทิ การผลิตแบตเตอรี่ มอเตอร์ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และซอฟต์แวร์ ยางล้อ และกลุ่มตัวถังที่ใช้วัสดุน้ำหนักเบา ซึ่งมาตรการ และผลการวิจัยดังกล่าว จะนำข้อเสนอต่อสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป.