เมียนมาได้ GSP จาก UK ต่อหลังเบร็กซิท
รัฐบาลนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันของสหราชอาณาจักรระบุว่าจะคงสิทธิการเข้าถึงของเมียนมาในตลาดสหราชอาณาจักรเหมือนเดิมหลังจากเบร็กซิท ไม่ว่าสหภาพยุโรปจะถอน หรือไม่ถอนสิทธิพิเศษทางการค้ากับเมียนมาเนื่องจากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน
“ ไม่ว่าเราจะออกจากอียูอย่างไรในเดือนต.ค.นี้ สหราชอาณาจักรจะยังคงสิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP) ให้กับเมียนมาเป็นเวลาอย่างน้อย 2 – 3 ปี ซึ่งถือว่าดีมาก” Warren Pain หัวหน้าฝ่ายการค้าและการลงทุนของสถานทูตอังกฤษกล่าวให้สัมภาษณ์สื่อเมียนมาไทม์
ภายใต้ข้อตกลงการค้าของอียูที่ให้สิทธิพิเศษกับประเทศที่มีการพัฒนาระดับต่ำสุดส่งสินค้าไปขายที่อียูได้ทุกอย่าง ยกเว้นอาวุธ (EBA) ทำให้เมียนมาสามารถส่งออกสินค้าทุกอย่าง ยกเว้นอาวุธและกระสุนไปขายที่อียูได้โดยปลอดภาษี โดยถ้อยแถลงของ Pain ซึ่งมีขึ้นในระหว่างการให้สัมภาษณ์ที่ย่างกุ้ง เปิดเผยว่า หลังเบร็กซิท สหราชอาณาจักร ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของยุโรป จะเตรียมพร้อมเดินหน้าผลักดันนโยบายต่างประเทศและการค้าของตัวเองที่มีกับประเทศกำลังพัฒนา
มีการประเมินว่า มีการจ้างงานแรงงาน 520,000 คนในอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้า โดยสัดส่วนของตลาดอียูคาดว่าจะสูงถึง 60% ในปีนี้
ทั้งนี้ อียูจับตามองสถานการณ์มนุษยชนในเมียนมา หลังจากเกิดวิกฤตในรัฐยะไข่ที่มีชาวมุสลิมโรฮิงญาอพยพลี้ภัยจากการปราบปรามของทหารเมียนมากว่า 7 แสนคนออกจากเมียนมาไปบังคลาเทศ ก่อนที่อียูจะตัดสินใจเริ่มกระบวนการถอนสิทธิพิเศษทางศุลกากร หรือ GSP ที่ให้ไปในปี 2556 เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในเมียนมา โดยกระบวนการถอนสิทธิอย่างเป็นทางการจะรวมถึงการพิจารณาทบทวนนาน 6 เดือนสำหรับเมียนมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้า
Pain ระบุว่า สหราชอาณาจักรหลังเบร็กซิทจะมีอิสระมากขึ้นในการทำงานร่วมกับเมียนมาและอาเซียนบนพื้นฐานผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน โดยสหราชอาณาจักรมีกำหนดจะออกจากอียูในวันที่ 31 ต.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม เขาเตือนนักลงทุนอังกฤษว่าควร “ มีความระมัดระวังมากขึ้น และรู้อย่างลึกซึ้งว่าหุ้นส่วนในเมียนมาคือใคร” เมื่อเข้าสู่ตลาดเมียนมา โดยเฉพาะเมื่อมีรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงจากสหประชาชาติที่ตีพิมพ์ช่วงต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา
การตัดสินใจของสหราชอาณาจักรในการคง GSP ได้รับการตอบรับจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนและภาคธุรกิจ ซึ่งเตือนว่าการที่อียูยกเลิก GSP กับเมียนมาจะเป็นการทำร้ายแรงงานนับแสนราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหญิงสาวอายุน้อย ขณะที่ผู้นำกองทัพของเมียนมาไม่ได้รับผลกระทบใดๆ
นักล็อบบี้และกลุ่มกดดันโต้แย้งว่าผลประโยชน์ของกองทัพไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า
“บริษัทของทหารมีเพียงเล็กน้อยในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ตั้งแต่พวกเขาตระหนักว่าการร่วมทุนกับ Daewoo JV ในการผลิตเสื้อเชิ้ตในช่วงต้นทศวรรษปี 1990 เป็นงานหนักและมีกำไรน้อยเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมเบียร์และบุหรี่” Vicky Bowman ผอ.Myanma Centre for ResponsibleBusiness ให้ข้อมูล
Mark Farmaner ผอ.องค์กรสิทธิมนุษยชน Burma Campaign UK มองว่าการตัดสินใจของสหราชอาณาจักรเป็น “ข่าวดีสำหรับแรงงานผลิตเสื้อผ้าและแรงงานในโรงงาน”
“ การที่อียูขู่จะถอน EBA ซึ่งจะส่งผลกระทบกับแรงงานในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเป็นส่วนใหญ่ แต่ปฏิเสธที่จะแทรกแซงบริษัทของทหาร ไม่มีเหตุผลเลย”.